เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

เรื่องราวของอาณาจักรล้านนา

Re: เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

โพสต์โดย น้ำฟ้า » อาทิตย์ 13 พ.ค. 2018 8:18 am

ชาวไทลื้อบ้านทาชมภู อำเภอแม่ทา ลำพูน
เมื่อครั้งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบูรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง ทรงควบคุมการสร้างสะพานขาวบ้านทาชมภู ในปีพ.ศ.๒๔๖๑ พระองค์ได้ออกสำรวจแขวงแม่ทา นครลำพูน รูปภาพทั้งหมดพระองค์ได้ทรงฉายไว้ ถือได้ว่าเป็นภาพชุดที่หาชมได้ยากชุดหนึ่ง สำเนาภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

ชาวไทลื้อบ้านทาชมภู อำเภอแม่ทา ลำพูน ๒๔๖๑.jpg
ชาวไทลื้อบ้านทาชมภู อำเภอแม่ทา ลำพูน ๒๔๖๑.jpg (125.4 KiB) เปิดดู 9010 ครั้ง
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

โพสต์โดย น้ำฟ้า » พุธ 23 พ.ค. 2018 6:00 am

ต้นยางอำเภอสารภี เชียงใหม่

960508.jpg
960508.jpg (22.69 KiB) เปิดดู 8997 ครั้ง


ในอดีต..อำเภอสารภี ไม่ได้มีชื่อเรียกเหมือนปัจจุบัน ชื่อเดิมของอำเภอนี้คือ "ยางเนิ้ง" ซึ่งน่าจะมีเหตุมาจากต้นยางที่มีลักษณะ "เนิ้ง" หรือ "โน้ม" เข้าหากัน กระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๗๒ จึงได้เปลี่ยนชื่ออำเภอยางเนิ้ง มาเป็นอำเภอสารภี ตามชื่อของดอกไม้ที่มีแพร่หลายอยู่ในอำเภอนี้ ส่วนประวัติของการปลูกต้นยางบนถนนสายประวัติศาสตร์เชียงใหม่-สารภีนั้น เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๒ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอม เกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ซึ่งสยามประเทศได้มีการจัดการปกครองส่วน ภูมิภาคจากเมืองประเทศราชมาเป็นรูปแบบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล มีข้าหลวง จากรัฐบาลกรุงเทพฯ มาปกครอง เชียงใหม่ในเวลานั้นอยู่ในช่วงปลายสมัยเจ้าอินทวโรรส เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ ๘ รัฐบาลส่วนกลางก็ยกเลิกอำนาจการปกครองของเจ้าหลวง ให้ข้าหลวงประจำเมืองทำหน้าที่แทน แต่ยังคงดำรงตำแหน่ง "เจ้าหลวง" เอาไว้เป็นประมุขของเชียงใหม่

โดยสมัยนั้นเมืองเชียงใหม่อยู่ในความ ดูแลของ ข้าหลวงสิทธิ์ขาดมณฑลพายัพ ซึ่งผู้ที่ดำรงตำแหน่งนี้เป็นคนแรกคือ เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐ์ศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) ท่านได้นำนโยบาย ที่เรียกว่า "น้ำต้อง กองต๋ำ" อันหมายถึงนโยบายในการพัฒนาคูคลองร่องน้ำ การตัดถนนหนทางและการปรับปรุงถนนหลวงเพื่อให้ความร่มรื่นแก่ชาวบ้านที่สัญจรไปมา จึงได้มีการกำหนดให้ทางหลวงแต่ละสายปลูกต้นไม้ไม่ซ้ำกันคือ ถนนในตัวเมืองเชียงใหม่ ให้ปลูกต้นไม้เมืองหนาว ถนนรอบคูเมือง ให้ปลูกต้นสัก และต้นสน ถนนสายเชียงใหม่-ดอยสะเก็ด ให้ปลูกต้นประดู่ ถนนสายเชียงใหม่-หางดง ให้ปลูกต้นขี้เหล็ก ถนนสายเชียงใหม่-สารภี ให้ปลูกต้นยาง และเมื่อเข้าเขตลำพูนให้ปลูกต้นขี้เหล็ก

สำหรับการปลูกต้นยางสารภีนั้น เริ่มต้นปลูกอย่างจริงจัง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๕ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ในการปลูกต้นยางสมัยนั้นจะเกณฑ์ชาวบ้านที่ยากจนไม่มีเงินเสียภาษีให้รัฐ รวมถึงชาวบ้านที่ไม่อยากจะเป็นทหาร ให้มาปลูกต้นยางตั้งแต่บ้านหนองหอยจนมาถึงแดนเมือง โดยจะให้ชาวบ้านรับผิดชอบดูแลรดน้ำต้นยางคนละประมาณ ๔-๕ต้น ถ้าหากพบว่าต้นยางที่ตนรับผิดชอบตายก็จะต้องนำต้นยางมาปลูกใหม่

ต้นยางที่ปลูกบนถนนสายเชียงใหม่ - สารภีนั้น คือ "ต้นยางนา" ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ เป็นไม้สงวนประเภท ข จากบันทึกของปิแอร์ โอร์คนักเดินทางชาวเบลเยี่ยมที่เดินทาง เข้ามาในสยามประเทศ สมัยรัชกาลที่ ๕ และท่านได้บันทึกการเดินทางไว้ในหนังสือ "ล้านนาไทยในแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง" เรียบเรียงโดย พิษณุ จันทร์วิทัน กล่าวว่า "ถนนจากเชียงใหม่ไปลำพูน ซึ่งข้าพเจ้าเคยกล่าวถึงด้วยความชื่นชมนั้น มิได้มีสิ่งใดพิเศษ เป็นเพียงเส้นทางที่คดเคี้ยวไปมา ใต้ต้นไม้สูงหรือป่าไผ่มีธารน้ำไหลผ่านหลายแห่ง"
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

โพสต์โดย น้ำฟ้า » จันทร์ 13 ส.ค. 2018 6:44 am

สามพญาผู้สร้างเวียงเจียงใหม่ นพบุรีศรีนครพิงค์
พญามังรายเป๋นเก๊า พญางำเมือง แลพ่อขุนรามคำแหง เป๋นผู้หื้อคำปรึกษาแลช่วยเหลือ

FB_IMG_1523665301818.jpg
FB_IMG_1523665301818.jpg (42.13 KiB) เปิดดู 8843 ครั้ง


กษัตริย์ทั้ง ๓ พระองค์ทรงร่วมกันวางแผนการสร้างเมืองเชียงใหม่ซึ่งปรากฏในคำจารึกฐานพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ กล่าวคือ
พญามังรายประสูติ เมื่อปีกุน พ.ศ. ๑๗๘๒ พระองค์ทรงครองเมืองเงินยางเชียงแสนแทนพญาลาวเม็ง พระราชบิดา เมื่อ พ.ศ. ๑๘๐๒ ทรงพระปรีชาสามารถกล้าหาญเป็นเยี่ยมสามารถ รวบรวมแคว้นและเมืองต่างๆ เข้าเป็นอาณาจักรล้านนาไทย และได้ทรงตรากฏหมาย "มังรายศาสตร์" ขึ้นเป็นหลักในการปกครองบ้านเมือง พระองค์ทรงเป็นปฐมกษัตริย์ ราชวงศ์มังราย เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๓๙ โดยมีพระราชวงศ์สืบ ต่อกันมาอีก ๑๗ พระองค์ พญามังรายสิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๖๐ สิริพระชนมายุได้ ๗๙ ชันษา

พญาร่วง (พ่อขุนรามคำแหงมหาราช) พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรสุโขทัยพระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่สามของ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ทรงพระบรมเดชานุภาพมากเมื่อพระชนมายุได้ ๑๙ พรรษา ได้กระทำยุทธหัตถีชนะขุนสามชนเจ้า เมืองฉอด ปรากฏพระเกียรติยศไพศาลเป็นที่คร้ามเกรงแก่บรรดาหัวเมืองต่างๆ สมัยนั้น พระองค์ทรงปกครองบ้านเมืองและอาณา ประชาราษฎร์ให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขทุกถ้วนหน้า และได้ทรงประดิษฐ์อักษรไทย เมื่อปี พ.ศ.๑๘๒๖ ซึ่งใช้สืบมาจนถึงทุกวันนี้ ทรงครองราชย์เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๘๒๒ และสิ้นพระชนม์เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๑๘๔๒

พญางำเมือง ประสูติเมื่อปีจอ พ.ศ.๑๗๘๑ ทรงปกครองเมืองพะเยาสืบต่อจากพญามิ่งเมืองพระราชบิดา เมื่อ พ.ศ.๑๘๐๑ เมื่อทรงพระเยาว์ได้ศึกษาศิลปวิทยาร่วมสำนักอาจารย์เดียวกับพญามังราย จึงเป็นพระสหายสนิทแต่นั้นมา พระองค์ทรงอานุภาพเสมอ เท่าเทียมกันในการปกครองบ้านเมืองนั้น ได้ทรงใช้วิเทโศบายผูกมิตรไมตรีกับอาณาจักรใกล้เคียง บ้านเมืองจึงร่มเย็นเป็นสุขตลอดมา พระราชาธิราชทั้งสามพระองค์ได้ทรงกระทำสัตย์ปฏิญาณผูกมิตรทรงดื่มน้ำสัตยาผสมโลหิตจากนิ้วพระหัตถ์ เพื่อเป็นมิตร น้ำร่วมสาบานไม่เป็นศัตรูต่อกัน ณ ฝั่งแม่น้ำอิง เขตเมืองพะเยา เมื่อพญามังรายได้ทรงสร้างเมืองเชียงรายแล้ว ต่อมาได้ทรงสร้างเมืองฝางและตีได้เมืองหริภุญไชยจากพญายีบาได้สร้าง เวียงกุมกาม ซึ่งปัจจุบันอยู่ในท้องที่อำเภอสารภี

ภายหลังทรงพบชัยภูมิเมืองอันเป็นศุภนิมิตรมงคล ๗ ประการ เป็นที่ราบริมน้ำปิงกับ ดอยสุเทพ พญามังรายจึงได้เชิญพระสหาย คือ พญาร่วงและพญางำเมืองมาร่วมปรึกษาหารือ ตั้งพิธีกัลปบาตฝังนิมิตหลักเมือง ในวันพฤหัสบดี เพ็ญเดือน ๖ พ.ศ. ๑๘๓๙ จันทร์เสวยฤกษ์ ๑๖ ยามแตรจักใกล้รุ่งไว้ลัคนาเมืองในราศรีมินอาโปธาตุ สร้างเสร็จในปีเดียวกันขนานเมืองใหม่นี้ว่า "นพบุรีศรีนครพิงค์เมืองเชียงใหม่" ซึ่งก็คือเมืองเชียงใหม่ดินแดนแห่งล้านนาไทยในปัจจุบัน

ศิลาจารึกวัดเชียงมั่น จารึกไว้ว่า .....พญามังรายเจ้าและพญางำเมือง พญาร่วง ทั้งสามตน ตั้งนอนในที่ชัยภูมิราชมนเทียร.....เมื่อ ศักราช ๖๕๘ เดือน ๖ ขึ้น ๘ ค่ำ วันพฤหัสบดี ตรงกับวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ.๑๘๓๙

พระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์มีผู้ออกแบบคือ อาจารย์ไข่มุกต์ ชูโต จากกรมศิลปกร ซึ่งในการออกแบบนั้นนายชัยยา ผู้ว่าฯ เชียงใหม่คนที่ ๒๑ มีความพิถีพิถันมาก ท่านขอดูแล้วดูอีกหลายรอบ เมื่อเป็นที่พอใจแล้วจึงมีการลงมือสร้าง

ใช้เวลา ๑๐ เดือนในการออกแบบและทำการปั้นหล่อ โดยได้ประกอบพิธีอัญเชิญพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์จากกรุงเทพมหานครขึ้นประดิษฐานบนแท่นพระบรมราชานุสาวรีย์ จังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๖

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๗

ขอบคุณที่มา : อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ผู้สร้างเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่

ขอบคุณเจ้าของภาพ
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

โพสต์โดย ภาษาสยาม » พุธ 29 ส.ค. 2018 8:15 pm

นายวิศิษฐ์ ไชยพร ผู้ว่าฯเชียงใหม่ คนที่ ๑๗ เสียชีวิตหลังจากมารับตำแหน่งได้ ๙ เดือน

P_20150820_160450.jpg
P_20150820_160450.jpg (530.36 KiB) เปิดดู 8762 ครั้ง


นายวิศิษฐ์ ไชยพร เดินทางมารับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๑๔ ถึงวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๑๕ เป็นผู้ว่าราชการเชียงใหม่คนที่ ๑๗ ท่านเป็นคนที่พูดจาเสียงดังฟังชัด พูดขวานผ่าซาก และเป็นคนที่เชื่อมั่นในตัวเองสูง หลังจากมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้ไม่ถึง ๓ เดือน ก็ได้พบปัญหาใหญ่ คือ เรื่องที่ชาวบ้านข่วงสิงห์และเจ็ดยอดชุมนุมประท้วงที่กระทรวงมหาดไทยจะใช้ที่ดินใกล้ป่าช้าข่วงสิงห์เป็นที่ราชพัสดุ เพื่อสร้างสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) ปัจจุบันคือ สำนักงานกรมทางหลวงชนบท ชาวบ้านไม่ยอม รวมตัวกันออกมาต่อต้าน แต่กระทรวงมหาดไทยก็ไม่ฟังเสียง ยืนยันที่จะใช้ที่ดินผืนนี้ให้ได้ ชาวบ้านจึงยกขบวนไปยังศาลากลางจังหวัด เพื่อเรียกร้องให้ผู้ว่าฯช่วยเหลือ ให้แจ้งไปกระทรวงมหาดไทยเพื่อระงับการใช้พื้นที่

ด้วยความที่ นายวิศิษฐ์ ไชยพร เป็นคนพูดขวานผ่าซากจึงตอบมาว่า ที่ดินเป็นที่ราชพัสดุ เมื่อหลวงจะใช้เป็นสถานที่ราชการ ชาวบ้านคัดค้านไม่ได้ แล้วก็พูดเสียงดังๆว่า “ไม่ช่วย” จากนั้นจึงไล่ชาวบ้านกลับไป พร้อมทั้งบอกว่า “อย่ากลับมาวุ่นวายที่ศาลากลางอีก” เมื่อผู้ว่าฯไม่ยอมรับฟังและไม่ถนอมน้ำใจเช่นนี้ ทำให้ชาวบ้านโกรธแค้นมาก จึงประกาศขับไล่ ไม่ยอมรับเป็นพ่อเมืองเชียงใหม่อีกต่อไป และได้เผาพริกเผาเกลือสาปแช่งให้มีอันเป็นไป

จากนั้นหลังจากนั่งเก้าอี้พ่อเมืองเชียงใหม่ ได้เพียง ๙ เดือน ในเดือนกรกฎาคม ๒๕๑๕ ซึ่งนายวิศิษฐ์ ไชยพร ได้เดินทางไปดูงานที่ประเทศเยอรมันร่วมกับคณะของกระทรวงมหาดไทย เช้าวันหนึ่งนายวิศิษฐ์ไม่ออกจากห้องพัก ในขณะที่คนอื่นๆเตรียมพร้อมที่จะออกเดินทางไปดูงานกันแล้ว คณะเดินทางจึงให้พนักงานโรงแรมขึ้นไปตาม จึงพบว่านายวิศิษฐ์ ไชยพร สิ้นใจตายบนเตียงนอนในห้องพักโรงแรมโดยไม่ทราบสาเหตุ ภายหลังทราบจากการชันสูตรพลิกศพไม่พบร่องรอยของการถูกทำร้ายร่างกาย แพทย์ลงความเห็นว่า มาจากหัวใจล้มเหลวปัจจุบันทันด่วน หรือหัวใจวาย

คนทั่วไปต่างออกมาแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของท่าน แต่ก็มีบางส่วนที่พูดถึงการเสียชีวิตว่า มาจากสาเหตุที่ชาวบ้านข่วงสิงห์และเจ็ดยอดสาปแช่ง กรณีนำที่ดินราชพัสดุนำไปสร้างสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท ความจริงจะเป็นอย่างไรไม่อาจทราบได้ เรื่องลี้ลับเป็นสิ่งที่เกินความคาดหมาย ส่วนจะเชื่อหรือมองว่างมงายก็สุดแต่ใจท่านผู้อ่านจะพิจารณา
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1145
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

Re: เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

โพสต์โดย ภาษาสยาม » เสาร์ 01 ก.ย. 2018 9:39 am

๓ ผู้ว่าราชการเชียงใหม่ที่เสียชีวิตในขณะดำรงตำแหน่ง ว่ากันว่ามีอยู่ ๒ ท่านที่คนเชียงใหม่ทำพิธีสาปแช่ง และสิ่งที่ท่านทำนั้นทำให้เกิดอัปมงคล “ตกขึด”เรียบเรียงจากคำบอกเล่าของบุคคลร่วมสมัย

คำร่ำลือถึง “ความขึด” และ “พิธีสาปแช่งของคนเชียงใหม่”สะท้อนความทรงจำแห่งอดีต ในยุคไทยแลนด์ ๔.๐ ความเจริญถาโถมเข้ามาไม่ขาดสาย ทำให้เรื่องไสยศาสตร์ ความเชื่อโบราณ ถูกคนกลุ่มหนึ่งมองว่างมงาย คร่ำครึ ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งยังเชื่อว่ามีอยู่จริง แต่ความจริงยังคงหลบเร้นอยู่ในม่านหมอกแห่งการรับรู้ สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถชี้ชัด และฟันธงได้ว่ามีจริงหรือไม่ มาฟังเรื่องจากอดีตผ่านชีวิตผู้ว่าราชการเชียงใหม่กันดีกว่า...เป็นการรวบรวมคำบอกเล่าของผู้คนในยุคนั้น บางช่วงของความเห็นเป็นความเชื่อ..ที่ยังพิสูจน์ไม่ได้..

tfopta.jpg
tfopta.jpg (45.16 KiB) เปิดดู 8752 ครั้ง



ท่านแรก นายวิศิษฐ์ ไชยพร ผู้ว่าฯเชียงใหม่ คนที่ ๑๗ เสียชีวิตหลังจากมารับตำแหน่งได้ ๙ เดือน
นายวิศิษฐ์ ไชยพร เดินทางมารับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๑๔ ถึงวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๑๕ เป็นผู้ว่าราชการเชียงใหม่คนที่ ๑๗ ท่านเป็นคนที่พูดจาเสียงดังฟังชัด พูดขวานผ่าซาก และเป็นคนที่เชื่อมั่นในตัวเองสูง หลังจากมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้ไม่ถึง ๓ เดือน ก็ได้พบปัญหาใหญ่ คือ เรื่องที่ชาวบ้านข่วงสิงห์และเจ็ดยอดชุมนุมประท้วงที่กระทรวงมหาดไทยจะใช้ที่ดินใกล้ป่าช้าข่วงสิงห์เป็นที่ราชพัสดุ เพื่อสร้างสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) ปัจจุบันคือ สำนักงานกรมทางหลวงชนบท ชาวบ้านไม่ยอม รวมตัวกันออกมาต่อต้าน แต่กระทรวงมหาดไทยก็ไม่ฟังเสียง ยืนยันที่จะใช้ที่ดินผืนนี้ให้ได้ ชาวบ้านจึงยกขบวนไปยังศาลากลางจังหวัด เพื่อเรียกร้องให้ผู้ว่าฯช่วยเหลือ ให้แจ้งไปกระทรวงมหาดไทยเพื่อระงับการใช้พื้นที่

ด้วยความที่ นายวิศิษฐ์ ไชยพร เป็นคนพูดขวานผ่าซากจึงตอบมาว่า ที่ดินเป็นที่ราชพัสดุ เมื่อหลวงจะใช้เป็นสถานที่ราชการ ชาวบ้านคัดค้านไม่ได้ แล้วก็พูดเสียงดังๆว่า “ไม่ช่วย” จากนั้นจึงไล่ชาวบ้านกลับไป พร้อมทั้งบอกว่า “อย่ากลับมาวุ่นวายที่ศาลากลางอีก” เมื่อผู้ว่าฯไม่ยอมรับฟังและไม่ถนอมน้ำใจเช่นนี้ ทำให้ชาวบ้านโกรธแค้นมาก จึงประกาศขับไล่ ไม่ยอมรับเป็นพ่อเมืองเชียงใหม่อีกต่อไป และได้เผาพริกเผาเกลือสาปแช่งให้มีอันเป็นไป

จากนั้นหลังจากนั่งเก้าอี้พ่อเมืองเชียงใหม่ ได้เพียง ๙ เดือน ในเดือนกรกฎาคม ๒๕๑๕ ซึ่งนายวิศิษฐ์ ไชยพร ได้เดินทางไปดูงานที่ประเทศเยอรมันร่วมกับคณะของกระทรวงมหาดไทย เช้าวันหนึ่งนายวิศิษฐ์ไม่ออกจากห้องพัก ในขณะที่คนอื่นๆเตรียมพร้อมที่จะออกเดินทางไปดูงานกันแล้ว คณะเดินทางจึงให้พนักงานโรงแรมขึ้นไปตาม จึงพบว่านายวิศิษฐ์ ไชยพร สิ้นใจตายบนเตียงนอนในห้องพักโรงแรมโดยไม่ทราบสาเหตุ ภายหลังทราบจากการชันสูตรพลิกศพไม่พบร่องรอยของการถูกทำร้ายร่างกาย แพทย์ลงความเห็นว่า มาจากหัวใจล้มเหลวปัจจุบันทันด่วน หรือหัวใจวาย

คนทั่วไปต่างออกมาแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของท่าน แต่ก็มีบางส่วนที่พูดถึงการเสียชีวิตว่า มาจากสาเหตุที่ชาวบ้านข่วงสิงห์และเจ็ดยอดสาปแช่ง กรณีนำที่ดินราชพัสดุนำไปสร้างสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท ความจริงจะเป็นอย่างไรไม่อาจทราบได้ เรื่องลี้ลับเป็นสิ่งที่เกินความคาดหมาย ส่วนจะเชื่อหรือมองว่างมงายก็สุดแต่ใจท่านผู้อ่านจะพิจารณา


ท่านที่ ๒ นายไพรัตน์ เดชะรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ คนที่ ๒๒ เสียชีวิตขณะดำรงตำแหน่งจากกรณี เครื่องบินสายการบิน เลาด้าแอร์ ตกที่สุพรรณบุรี

นายไพรัตน์ เดชะรินทร์ ย้ายจากผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาทมารับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พศ. ๒๕๓๐ ก่อนหน้านั้นขณะที่ท่านเป็นผู้ว่าฯจังหวัดชัยนาทได้ทำให้เมืองชัยนาทมีความน่าสนใจมากขึ้น เมื่อท่านมีไอเดียที่จะสร้างสวนนก และหุ่นฟาร์มนกขึ้น จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดชัยนาท ที่คนทั่วประเทศต้องแวะอย่างไม่ขาดสาย จากผลงานนี้ทำให้ชาวชัยนาทรักใคร่เสียดายท่าน จึงตามมาส่งถึงเชียงใหม่จำนวนมาก

ระหว่างดำรงตำแหน่งพ่อเมืองเชียงใหม่ นายไพรัตน์ จัดได้ว่าเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดที่เก่งคนหนึ่งของกระทรวงมหาดไทย นโยบายการบริหารนครเชียงใหม่ ท่านเน้นเรื่องการอนุรักษ์เมืองเก่า รักษาประเพณีวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงใหม่ ถึงระดับวางแผนสร้างเมืองใหม่ หรือเมืองแฝด ขึ้นที่อำเภอสันกำแพง พร้อมสร้างสนามบินแห่งใหม่รองรับ โดยจ้าง บริษัทหลุยห์เบอเจอร์ จากอเมริกาขึ้นมาศึกษา มีการแบ่งโซนเมืองเก่า โซนย่านธุรกิจ โซนที่อยู่อาศัย และโซนสีเขียว คือโซนเกษตร อย่างชัดเจน ภายใต้แนวเดียวกันกับนายชัยยา พูนศิริวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ท่านก่อนหน้า

นายไพรัตน์ เดชะรินทร์ เคยขอทุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา นำหัวหน้าส่วนราชการ และผู้นำองค์กรภาคเอกชน เดินทางไปดูการอนุรักษ์เมืองเก่าชื่อซานตาเฟ่ เมืองหลวงรัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ ๑๗ – ๓๐ มีนาคม ๒๕๓๓ ซึ่งเมืองซานตาเฟ่ โดดเด่นในการอนุรักษ์เมืองเก่าไว้ได้ค่อนข้างสมบูรณ์ นายไพรัตน์นำผู้เกี่ยวข้องไปดูงานนี้ เพื่อศึกษาตั้งความหวังนำมาเป็นต้นแบบในการอนุรักษ์เมืองเก่าในเขตแนวคูเมืองเชียงใหม่

จนมาถึงวันที่ วันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ เวลาประมาณ ๒๓.๑๐น. เที่ยวบิน NG004 สายการบิน Lauda Air ซึ่งบินมาจากท่าอากาศยานไคตั๊ก ที่ ฮ่องกง ด้วยเครื่องบิน Boeing B-767-3Z9ER ชื่อเครื่องบินโวล์ฟกังอะมาเดอุส โมซาร์ท ได้ออกจากท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง มุ่งสู่ท่าอากาศยานนานาชาติเวียนนา มีผู้โดยสาร ๒๑๓ คน และลูกเรือ ๑๐ คน ภายใต้การควบคุมของกัปตันชาวอเมริกัน Thomas J. Welch และผู้ช่วยชาวออสเตรีย Josef Thurner

เวลา ๒๓.๒๒ น. Welch และ Thurner ได้รับสัญญาณภาพเตือนว่ามีความผิดพลาดทางระบบที่อาจทำให้ระบบผันกลับแรงขับ (Thrust Reverser) ที่เครื่องยนต์หมายเลข ๑ ทำงานขณะบิน หลังจากได้ศึกษาคู่มือแล้ว ทั้งสองลงความเห็นว่าสัญญาณเตือนนั้นเป็นเพียงเหตุการณ์ปกติและไม่ได้จัดการใด ๆ กับสัญญาณเตือน

เวลา ๒๓.๓๑น. ระบบผลักดันแรงขับที่เครื่องยนต์หมายเลข ๑ ทำงานระหว่างที่เครื่องบินอยู่เหนือพื้นที่ป่าและภูเขาบริเวณรอยต่อระหว่างจังหวัดอุทัยธานีและจังหวัดสุพรรณบุรี เครื่อง ๗๖๗ สูญเสียแรงยกและฉีกออกเป็นส่วน ๆ กลางอากาศที่ระดับความสูง ๑,๒๐๐เมตรเหนือระดับน้ำทะเล

เมื่อเวลา ๒๓.๒๐ น. ซากเครื่องบินถูกพบที่ระดับความสูง ๖๐๐ เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ในบริเวณซึ่งปัจจุบันเป็นอุทยานแห่งชาติพุเตย จังหวัดสุพรรณบุรี ไม่มีผู้โดยสารและลูกเรือคนใดรอดชีวิต ในจำนวนนี้เป็นคนไทย ๓๙ คน ชาวต่างชาติ ๑๘๔ คน อุบัติเหตุครั้งนี้เป็นหายนะทางการเดินทางทางอากาศที่รุนแรงที่สุดที่เกิดขึ้นในประเทศไทยจวบจนถึงปัจจุบัน ทีมกู้ภัยพบร่างของ Welch กัปตัน ยังคงติดอยู่กับที่นั่งของนักบิน

เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ต้องใช้เวลาเก็บศพอยู่ประมาณ ๔-๕ วันถึงลำเลียงศพออกมาชันสูตรที่สถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ ได้เกือบหมด มีหลงเหลือบ้างก็เป็นพวกชิ้นเนื้อ กระดูก ชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่หมาป่า สัตว์ร้ายแทะเอาไปกิน มีนักข่าวเล่าว่า หลังจากไปทำข่าวการเก็บศพ และกลับมานอนที่โรงแรมใน อ.ด่านช้าง เมื่อมาถึงโรงแรมหรือไปนั่งในร้านอาหาร สาวเสิร์ฟมักจะถามว่าพี่ไปเก็บศพมาหรือ เพราะกลิ่นศพจะติดมากับเสื้อผ้า บางครั้งซักแล้ว และซื้อตัวใหม่ แต่กลิ่นศพก็ยังติดตัว เขาคอยภาวนาว่า ผมมาทำข่าวตามหน้าที่นะ เราไม่มีอะไรยุ่งเกี่ยวกัน ขออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้วิญญาณแต่ละดวงอยู่ห่างๆ เราไว้ อย่าตามมาหลอกหลอนเลย พร้อมๆกับจะนิมนต์พระวัดใกล้ๆ ไปสวดบังสุกุลให้

เป็นภารกิจอันต่อเนื่อง ที่เขาต้องอยู่ทำข่าวเกือบครึ่งเดือน เพื่อรอทำข่าวญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตบินมารับศพ

เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ นายไพรัตน์ เดชะรินทร์ รศ.สุภาพ เดชะรินทร์ ภริยา เจ้าพงศ์แก้ว ณ ลำพูน และผู้เป็นที่รู้จักของจังหวัดเชียงใหม่หลายคนเสียชีวิตพร้อมกัน ผู้ว่าฯคนต่อมาที่มารับตำแหน่ง จึงต้องทำบุญใหญ่ เพื่อแก้ขึด
เรื่องราวของเลาด้าแอร์ “เลาด้า...คืนฟ้าโศก”



กรณีของ นายไพรัตน์ เดชะรินทร์ นั้นมีหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยของท่าน ได้แก่

การบูรณะเจดีย์หลวง วัดเจดีย์หลวง เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๓๓ ใช้งบประมาณในการบูรณะถึง ๓๕ ล้านบาท แล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ [เป็นความเชื่อเรื่องการตกขึด เนื่องจากมีการเปิดเจดีย์ คือ ฐานเจดีย์ในปัจุบันจะมีอุโมงค์ซึ่งคนโบราณปิดเอาไว้]

การสั่งปิดประตูท่าแพ ประตูทิศตะวันออกของเวียงเชียงใหม่ ปัจจุบันจึงต้องทำช่องเล็ก ๆ ไว้สำหรับให้คนเดินผ่านได้[เป็นความเชื่อเรื่องการตกขึด เนื่องจากไปปิดประตูเมือง ผิดฮีตฮอยของล้านนา]

อนุมัติสร้างคอนโดมิเนียมติดน้ำปิง คนเชียงใหม่ขอให้ระงับการก่อสร้าง แต่ท่านผู้ว่าฯไม่ยอมยกเลิก จึงมีการนำเอาศพตายท้องกลมปล่อยลงน้ำปิง แล้วทำพิธีทางไสยศาสตร์ สาปแช่ง [ในยุคนั้นมีการขายที่ดินในตัวเมืองเชียงใหม่ให้คนที่อื่นเยอะมาก สังเกตจากบริเวณใกล้ๆโบราณสถานหลายแห่ง จะเป็นร้านรวงไปแล้ว จุดนี้เป็นอีกประการที่ทำให้ประชาชนไม่พอใจ]

ผู้ว่าคนถัดไป คือ นายชนะศักดิ์ ยุวบูรณ์ ต้องทำพิธีแก้ขึด และมีการสวด "มหาตุ๊บ" แก้อาถรรพ์ เมืองเชียงใหม่

เมื่อท่านเสียชีวิตพร้อมภริยาเหตุเครื่องบินตกจึงเกิดคำถามว่า เพราะถูกสาปแช่งและความขึดหรือเปล่า..ไม่มีใครตอบได้ เนื่องจากบางเรื่องเป็นสิ่งที่เหนือการรับรู้ของมนุษย์ ดุจเดียวกับที่ก่อนเดินทาง มีพระรูปหนึ่งในเชียงใหม่บอกกับท่านว่า ไม่ให้เดินทาง..จะเกิดอันตราย แต่ท่านไม่เชื่อ สิ่งที่ท่านเชื่อคือ การเดินทางโดยเครื่องบินเป็นการเดินทางที่ปลอดภัยที่สุด ดังที่ได้กล่าวกับนักข่าวคนสนิทเอาไว้ สำหรับอิฉันนั้นมองว่า บางสิ่งอยู่เหนือการรับรู้ เหนือเหตุผล แต่ไม่ได้แปลว่าไม่มี เราฟันธงไม่ได้ว่าจริงไม่ เพราะเราเป็นมนุษย์ธรรมดา ไม่ได้มีฌานวิเศษ กลไกทางธรรมชาติ และประสบการณ์ชีวิตทำให้อิฉันได้เห็นว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะรับรู้ทุกเรื่องได้ บางเรื่องก็มีไว้สำหรับ “บางคน” เท่านั้น


ท่านที่ ๓ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ คนที่ ๒๐ ผู้ได้กระทำอัตวินิบาตกรรมกลางจวนผู้ว่าฯ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๓
นายประเทือง สินธิพงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ คนที่ ๒๐ ต่อจาก นายชลอ ธรรมศิริ นายประเทืองเดินทางมารับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๒๐ ระหว่างดำรงพ่อเมืองเชียงใหม่ ท่านเป็นคนสมถะ พูดจานิ่ม ให้เกียรติคน และให้ความสนิทสนมเป็นกันเองกับคนทุกคนที่ไปพบ ท่านเป็นคนพูดช้าๆ พูดคำหนึ่งแล้วหยุดคิดอยู่นานเลยก็มี

วันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๒๓ ช่วงปีใหม่เมือง ชาวเชียงใหม่ได้ไปรดน้ำดำหัวท่านที่จวนผู้ว่า ในระหว่างที่ให้พรปีใหม่ นายประเทืองได้กล่าวเอาไว้ตอนหนึ่งว่า “ผมรักเมืองเชียงใหม่ และรักประชาชนทุกคน แต่ผมอาจจะไม่ได้อยู่กับชาวเชียงใหม่ต่อไป” คงไม่มีใครคิดว่า คำกล่าวนี้เป็นคำกล่าวลาอย่างเป็นทางการ จนถึงเช้าวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๒๓ นายประเทือง ได้กระทำอัตวินิบาตกรรมในห้องนั่งเล่นชั้นล่างจวนหลังเก่า โดยศพท่านนอนหงาย ที่ศีรษะมีเลือดไหลนองเต็มพื้นห้อง ใกล้มือขวามีปืนขนาด ๑๑ มม.ตกอยู่ และมีจดหมายวางใกล้ศพ เนื้อหาจดหมายมีใจความสั้นๆ ว่า “รับราชการด้วยความซื่อสัตย์ ฝากภิรมย์ศรีให้ชาวเชียงใหม่ช่วยดูแล ปืนขอให้ส่งคืนกระทรวงมหาดไทย” ส่วนสาเหตุที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กระทำอัตวินิบาตกรรมนั้น มาจากกรณีโรงพิมพ์ท้องถิ่น ซึ่งภายหลังพิสูจน์แล้วว่าท่านไม่มีความผิด

ในพิธีพระราชทานเพลิงศพของ นายประเทือง สินธิพงษ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโกศบรรจุศพ และพระราชทานเพลิงศพ โดยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานพิธี

ท่านผู้ว่าฯท่านนี้ไม่ได้มีปัญหากับประชาชนในการกระทำที่ผิดฮีตฮอย แต่ท่านมีปัญหาส่วนตัว อีกประการคือ ปัญหาเรื่องโรงพิมพ์ที่เป็นเรื่องด่างพร้อย หลังจากท่านเสียชีวิต จึงพิสูจน์ได้ว่าท่านและคณะไม่มีความผิด รายละเอียดคร่าวๆ ดังนี้

ในยุคที่เสร็จสิ้นสงครามเวียดนาม ทหารอเมริกันได้ยกโรงพิมพ์ของตนเองให้แก่กรมการปกครอง ซึ่งกรมการปกครองก็ได้ดำเนินการต่อในรูปแบบของโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นกระทรวงมหาดไทยซึ่งก็มีรายได้เกิดขึ้น และมีผู้ร้องเรียนว่าคณะผู้บริหารโรงพิมพ์ฯนำผลประโยชน์ที่ได้จากกำไรไปใช้ในทางไม่ถูกต้อง จึงมีการนำคดีไปสู่ศาล โดยมีอดีตอธิบดีกรมการปกครองในขณะนั้น คือ คุณวิญญู อังคณารักษ์ กับพวก เช่น คุณอเนก สิทธิประศาสน์ เป็นผู้ต้องหา แต่ในช่วงนั้นท่านผู้ว่าฯประเทืองซึ่งในอดีตรับราชการกรมการปกครองอยู่ และคิดว่าตนเองคงจะต้องติดร่างแหไปด้วย จึงทำอัตตวินิบาตกรรม แต่ในที่สุดศาลฎีกาได้ยกฟ้อง (คดีหมายเลขดำที่๘๐๓๗/๒๕๒๓ คดีหมายเลขแดงที่๑๖๗๔๙/๒๕๒๔)รายละเอียดที่มากกว่านี้ไม่สะดวกในการเผยแพร่ต่อสาธารณะ เพราะมีการพาดพิงถึงผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองที่ยังมีชีวิตอยู่

#ขออนุญาตเล่าความทรงจำเหล่านี้ให้แก่อนุชน ผลบุญจากการทำให้ทุกคนได้เรียนรู้เรื่องราวจากอดีตและนำมาปรับใช้กับปัจจุบัน ขอให้ตกแก่อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ทั้งสามท่าน ขอให้ท่านไปสู่สัมปรายภพ สำหรับอิฉันนั้นมองว่า บางการกระทำเกิดจากการที่เราเชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์ จนลืมวัฒนธรรมประเพณี มองความเชื่อเป็นสิ่งล้าหลัง จึงขาดความระมัดระวังในทุกๆการกระทำ และลืมนึกถึงหัวใจของคนท้องถิ่น อีกทั้งความเก่ง การได้รับการยกย่อง ทำให้บุคคลมีความมั่นใจในตนเอง เชื่อมั่นในทุกๆการตัดสินใจ จึงทำให้ขาดการรับฟังจากสังคม..บุคคลที่สถานะด้อยกว่า จึงเกิดผลในทางความคิด เกิดอคติต่อกัน นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ เมืองเก่าอายุเจ็ดร้อยกว่าปี ไม่ง่ายเลยที่จะมาถึงวันนี้และคงความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณีได้อย่างแน่นแฟ้นดังที่เห็น เราขอพ่อเมืองทุกท่าน เมื่อท่านมารับหน้าที่ดูแลแผ่นดินอันเป็นที่รักยิ่งของเรา ขอท่านจงศึกษารากเหง้า วัฒนธรรม ประเพณีของเรา ใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหาร ขอให้ท่านพัฒนาความรุ่งเรืองทางเทคโนโลยีควบคู่ไปกับการทำนุบำรุงศาสนาและรักษาวัฒนธรรมเก่าแก่ของเรา เพราะนั่นคือเสน่ห์ คือความดีความงาม ความโดดเด่น ของ เชียงใหม่ มณีแห่งล้านนา (น่าเขียนสารคดีเรื่องนี้เนาะ เชียงใหม่ มณีแห่งล้านนา)



เรียบเรียงจาก คลิปข่าวในยูทูป,บันทึกของนายอำนาจ จงยศยิ่ง,พันทิป , เพซบุ๊ก ยุทธนา ชุดทองม้วน , Chamnan Chanruang, Tanet Na Lanna และ คุณป้า คาร์ฟู
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1145
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

Re: เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

โพสต์โดย ภาษาสยาม » เสาร์ 01 ก.ย. 2018 3:52 pm

นายชัยยา พูนศิริวงศ์ ผู้ว่าฯคนเจียงใหม่ หัวใจ๋ฮักแผ่นดิน
ผู้ว่าราชการเชียงใหม่คนที่ ๒๑ (๑ ตุลาคม ๒๕๒๓ – ๓๐ กันยายน ๒๕๓๐)

34340304_1992099864438094_2478646392688476160_n.jpg
34340304_1992099864438094_2478646392688476160_n.jpg (27.87 KiB) เปิดดู 8750 ครั้ง


นายชัยยา พูนศิริวงศ์ เกิดเมื่อ ๒๐ กันยายน พ.ศ.๒๔๗๕ เป็นบุตรของ นายเชาวลิต พูนศิริวงศ์ และนางเน้ย พูนศิริวงศ์ (สกุลเดิม คือ เหลียวรุ่งเรือง หรือแซ่เหลียว ซึ่งเป็นเจ้าของร้านเตี่ยเส็ง บริเวณกาดหลวง) นายชัยยามีน้องๆ ๓ คน คือ นายวารินทร์ พูนศิริวงศ์ ผู้บริหารหนังสือพิมพ์แนวหน้า, นางสินธุ คุณากร และนางเยาวลักษณ์ สารภีปทุม

ท่านเรียนจบชั้นมัธยมที่อัสสัมชัญ แล้วได้ทุนไปเรียนต่อที่ลิเวอร์พูล ยูนิเวอร์ซิตี้ จนจบปริญญาตรี (เกียรตินิยม) ทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ ทำให้มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดสนใจที่จะให้ทุนเรียนต่อทางด้านผังเมืองโดยเฉพาะ เมื่อเรียนจบท่านจึงกลับมารับราชการเป็นสถาปนิกโท กองผังเมืองโยธาธิการ หัวหน้ากองผังเมืองเฉพาะ ผู้อำนวยการผังเมืองรวม นายช่างผังเมืองพิเศษ และรองผู้อำนวยการสำนักผังเมือง ก่อนไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในปี พ.ศ.๒๕๒๓

"งานวิชาการยังพอผัดวันประกันพรุ่งได้ แต่งานปากท้องประชาชนเป็นงานที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ทันที รอช้าไม่ได้" ท่านเคยพูดไว้ เมื่อครั้งไปเป็นผู้ว่าฯ ใหม่ๆ และคนบนศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ก็บอกว่า "ท่านทำอะไรเร็วจริงๆ โดยเฉพาะเรื่องที่ดินแม่ริม"
นายชัยยา แต่งงานกับวนิดา พูนศิริวงศ์ ซึ่งเป็นภริยาผู้ว่าฯ คนเดียวที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นคุณหญิง ทั้งสองมีบุญบุญธรรม คือ อำภา-อำไพ เด็กหญิงฝาแฝดจากสันกำแพงที่ขอมาเลี้ยง

การทำงานของผู้ว่าฯชัยยา

นายชัยยา พูนศิริวงศ์ ถูกสบประมาทว่าจะบริหารราชการในฐานะนักปกครองได้ดีอย่างไร เนื่องจากไม่ได้ก้าวมาจากสายปกครองโดยตรงเลย คือ ไม่ผ่านการเป็นปลัดอำเภอ ปลัดจังหวัด และรองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ท่านมาจากผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กระทรวงมหาดไทย เป็นนักสถาปนิก ไม่ใช่นักปกครอง แต่ชาวเชียงใหม่ และในหมู่ข้าราชการระดับเดียวกันก็ได้รู้ในภายหลังว่า ท่านใช้ความรู้ ความสามารถในเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดได้ดีไม่แพ้ผู้ว่าที่มาจากสายตรง หรืออาจจะเก่งกว่าผู้ว่าสายตรงบางคนเสียอีก ด้วยความเป็นนักสถาปนิกทำให้มองเชียงใหม่ออกว่าควรจะพัฒนาไปทางทิศทางใด ท่านเลือกให้เมืองเชียงใหม่เป็นเมืองมรดกทางวัฒนธรรม และทางประวัติศาสตร์ โดยอนุรักษ์โบราณสถานให้คงอยู่คู่กับเมืองเชียงใหม่ตลอดไป ท่านจึงหวงแหนสิ่งโบราณล้ำค่าตามวัดต่างๆในเขตคูเมือง

ช่วงที่ท่านดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯเชียงใหม่ ในหมู่เจ้าอาวาสมีกระแสการสร้างโบสถ์วิหารใหม่ที่สวยงามแข่งกัน ใครจะระดมหาเงินเก่งกว่ากัน ใครสร้างโบสถ์ หรือวิหารได้ ถือว่ามีผลงานจะได้พิจารณาความดีความชอบเพื่อเลื่อนสมณศักดิ์ให้สูงขึ้น เมื่อมีผู้ค้าของเก่าไปเสนอเจ้าอาวาสให้รื้อโบสถ์ วิหารเก่า ที่ทำด้วยไม้สักอายุนับร้อยปีออก โดยผู้ค้าของเก่าจะเป็นผู้รื้อให้เอง ขอเพียงไม้เก่าทั้งหมด ซึ่งในอดีตการสร้างวิหารไม้จะสลักเสลาอย่างสวยงาม ทำให้มีราคาสูง เป็นที่ต้องการของนักสะสมของแต่งบ้านสมัยโบราณ พ่อค้าของเก่าจึงล่อใจเจ้าอาวาสด้วยการให้เงินอีกก้อนหนึ่งเพื่อไปสร้างโบสถ์ วิหารหลังใหม่ เจ้าอาวาสไม่รู้คุณค่าของโบราณสถานก็ยินยอมแต่โดยดี แต่เมื่อนายชัยยาทราบข่าวก็ได้เข้าไปอธิบายคุณค่าของวิหารเก่าแก่ว่าเป็นศิลปะทรงคุณค่า ควรจะเก็บไว้เป็นมรดกของลูกหลาน พร้อมทั้งขอร้องเจ้าอาวาสว่าอย่ารื้อ ให้คำนึงถึงของเก่าอันมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ หลายวัดท่านไปห้ามไว้ได้ทัน แต่ก็มีหลายวัดที่ห้ามไม่ทันจึงถูกรื้อไป วัดที่ไม่ได้รื้อนั้นท่านก็จัดสรรงบประมาณไปซ่อมแซมบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง โดยให้สำนักงานศิลปากรเขต ๘ เชียงใหม่ เข้าไปช่วยดูแล


พระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์
นายชัยยาเป็นหัวเรือใหญ่ในการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ โดยระดมนักประวัติศาสตร์ของเชียงใหม่มาร่วมแสดงความคิดเห็นหลายครั้ง ในขั้นแรกท่านมีความคิดจะสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พญามังรายพระองค์เดียว ในฐานะผู้สร้างเมืองเชียงใหม่ แต่เมื่อระดมหลายๆความคิด ต่างแลกเปลี่ยน เสนอแนะ จนในที่สุดก็มีมติ คือ ให้มี พญามังรายเจ้าเมืองเชียงใหม่ พญางำเมืองเจ้าเมืองพะเยา และพ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัย เนื่องจากทั้งสามพระองค์เป็นพระสหายกัน และได้มีการวางแผนสร้างนครเชียงใหม่ร่วมกัน

เมื่อได้รายละเอียดการสร้างแล้ว ต่อมาจึงต้องถกเถียงกันว่าจะตั้งพระบรมราชานุสาวรีย์ไว้ที่จุดใด ซึ่งมีให้เลือก ๓ จุด คือ เชิงสะพานนวรัฐ บริเวณหน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัด ๒.บริเวณข่วงประตูท่าแพ ๓.หน้าอาคารศาลากลางเก่าใกล้กลางเวียง โดยครั้งนี้ผู้ว่าฯชัยยา เป็นผู้ฟันธงว่าให้ใช้สถานที่หน้าศาลาเก่าเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ หลายคนคัดค้านว่าไม่เหมาะสม เนื่องจากขณะนั้นยังไม่ได้รื้อรั้วศาลากลางเก่าออกทำให้ดูเป็นมุมอับ แต่สถาปนิกอย่างท่านมองออก การปรับภูมิทัศน์ให้สวยไม่ยาก ท่านจึงให้เหตุผลว่า ตั้งกลางเวียงเป็นเดชเมือง และจะสง่างามสมพระเกียรติ เมื่อมีผู้ผ่านไปผ่านมาก็สามารถเข้าไปสักการะได้ง่าย

พระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์มีผู้ออกแบบคือ อาจารย์ไข่มุกต์ ชูโต จากกรมศิลปกร ซึ่งในการออกแบบนั้นนายชัยยามีความพิถีพิถันมาก ท่านขอดูแล้วดูอีกหลายรอบ เมื่อเป็นที่พอใจแล้วจึงมีการลงมือสร้าง

ใช้เวลา ๑๐ เดือนในการออกแบบและทำการปั้นหล่อ โดยได้ประกอบพิธีอัญเชิญพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์จากกรุงเทพมหานครขึ้นประดิษฐานบนแท่นพระบรมราชานุสาวรีย์ จังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๖

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๗



การสร้างประตูท่าแพ (ในอดีตเรียกว่า ประตูเชียงเรือก)
เดิมทีเมืองเชียงใหม่โบราณมีกำแพงเมืองก่ออิฐ ป้อม และประตูเมืองชั้นใน ๕ ประตู ในราว พ.ศ. ๒๔๖๐ คนเมืองเชียงใหม่เริ่มมีรถยนต์ขับ และความเจริญเติบโตของบ้านเมืองมีมากขึ้น กำแพงเมืองจึงถูกกระทรวงธรรมการสมัยนั้นทำลายลง แล้วจัดประมูลขายอิฐ กำแพงเมืองถูกรื้อถอนลงเหลือแต่แจ่ง ๔ แจ่ง เช่นเดียวกับประตูเมืองที่ถูกรื้อลงหมด เพื่อขยายถนนให้กว้างสำหรับรถยนต์วิ่งได้สะดวก ต่อมาราว พ.ศ. ๒๔๙๐ เทศบาลเมืองเชียงใหม่ขณะนั้น ได้ออกแบบ(ออกแบบใหม่ ไม่มีหลักฐานและรูปแบบโบราณเลย) และสร้างประตูเมืองขึ้นใหม่ เพื่อให้บ้านเมืองสวยงาม โดยมีนายช่าง ทองหยด จิตตะวีระ ผู้ออกแบบ ประตูเมือง ๔ ประตูที่เห็นทุกวันนี้ ยกเว้นประตูท่าแพ สรุปแล้วประตูเมืองเชียงใหม่ที่เห็นทุกวันนี้ล้วนแต่เป็นสิ่งก่อสร้างใหม่ไม่ใช่โบราณสถานทั้งสิ้น


ดังที่ได้กล่าวข้างต้นว่า นายช่าง ทองหยด จิตตะวีระ เป็นผู้ออกแบบ ประตูเมือง ยกเว้นประตูท่าแพ ในส่วนของผู้ที่สร้างประตูท่าแพขึ้นใหม่ คือ ผู้ว่าฯชัยยา พูนศิริวงศ์ นั่นเอง ในปี พ.ศ.๒๕๒๘ ท่านมีความคิดที่จะสร้างประตูท่าแพขึ้นมาใหม่แทนของเก่า โดยทุบประตูท่าแพเดิมทิ้ง แล้วสร้างกำแพงเมืองและประตูขึ้นมาใหม่ด้วยวัสดุสมัยใหม่เพื่อให้ถูกต้องตามหลักการ ทำให้นักประวัติศาสตร์และชาวเชียงใหม่ไม่พอใจ กล่าวหาว่า ผู้ว่าฯ ทำลายของเก่าที่มีคุณค่า ทำลายกำแพงเมืองเก่า จะทำให้ ขึดบ้านขึดเมือง ผู้คนต่างพากันออกมาด่าทอ บางคนก็ถึงขั้นสาปแช่ง แต่นายชัยยายังคงนิ่ง และอธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่า กำแพงที่รื้อไปไม่ใช่ของเก่า เป็นสิ่งปลูกสร้างที่เพิ่งสร้างมาเมื่อ ๓๐ ปีก่อน ในสมัยหลวงศรีประกาศ เป็นนายกเทศมนตรี (หลวงศรีประกาศ หรือนายฉันท์ วิชยาภัย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๖ เสียชีวิตในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ อายุ ๘๓ ปี ท่านเป็นนักธุรกิจชาวเชียงใหม่ เจ้าของโรงแรมศรีประกาศ หลวงศรีประกาศได้รื้อของเก่าออกเพื่อขยายประตูเมืองทุกด้านให้กว้างขึ้นเพื่อรองรับความเจริญของเมือง เมื่อรื้อแล้วหลวงศรีประกาศก็สร้างประตูเมืองขึ้นมาใหม่ทั้งสี่ด้าน คนรุ่นต่อมาจึงเข้าใจว่าเป็นประตูเมืองเก่าในสมัยพญามังราย)

นายชัยยาได้รูปภาพประตูท่าแพในสมัยโบราณมา ท่านจึงบอกกับชาวเชียงใหม่ว่าจะสร้างขึ้นมาใหม่โดยจำลองให้ใกล้เคียงของจริงมากที่สุด เช่น ความกว้าง ความสูง ของประตูท่าแพ จะใกล้เคียงของเก่าจริงให้มากที่สุด จะผิดเพี้ยนอย่างมากไม่เกินครึ่งนิ้วเท่านั้น โดยใช้วิธีคำนวณจากรูปประตูเมืองเก่า ประชาชนบางส่วนเข้าใจ บางส่วนก็ไม่ยอมเข้าใจ แต่ท่านก็ยอมถูกด่า โดยบอกว่า เมื่อสร้างเสร็จแล้วทุกคนจะเข้าใจกัน ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น เมื่อข่วงประตูท่าแพ และประตูเมืองสร้างเสร็จ ก็กลายเป็นแลนด์มาร์คที่สวยงาม เป็นที่พึงพอใจประชาชน ท่านบอกว่าที่สร้างขึ้นมานี้มอบให้ประชาชนใช้เป็นแหล่งนันทนาการกลางเมือง ห้ามให้มีการจัดงานแสดงสินค้าบนข่วงประตูท่าแพ ให้ใช้ในงานรัฐพิธีเท่านั้น แต่ในภายหลังกลับมีการอนุญาตให้ใช้ผิดวัตถุประสงค์มานานกว่าหลายสิบปี

ขณะก่อสร้างประตูท่าแพ มีตึกแถวชุดหนึ่ง จำนวน ๖ ห้อง ตั้งอยู่ทางทิศใต้ติดข่วงประตูท่าแพ เมื่อตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ พบว่ามีโฉนด และเปลี่ยนมือกันมานาน ผู้ครอบครองปัจจุบันไม่มีเจตนารุกล้ำที่โบราณสถาน อ้างสิทธิ์ตามกฎหมายที่ดิน เพราะซื้อขายสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน นายชัยยาจึงมีแผนการระดมเงินซื้อตึกแถว น่าเสียดายที่แผนการระดมเงิน เพื่อซื้อตึกแถวทั้ง ๖ ห้อง ไม่ลุล่วงตามเจตนารมณ์ เพราะท่านจากไปกะทันหันเสียก่อน

นายชัยยา พูนศิริวงศ์ เป็นคนรักบ้านเมือง ตลอดเวลาที่เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ทุกๆปีท่านจะทอดผ้าป่าเพื่อบูรณะวัดในเมืองเชียงใหม่ที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรม โดยไม่ใช้งบประมาณของทางราชการเลย อาทิ วิหารวัดปราสาท วิหารวัดต้นเกว๋น ฯลฯ ล้วนผลงานของท่านทั้งสิ้น หากไม่มีผู้ว่าฯชัยยา พูนศิริวงศ์ มาดำรงตำแหน่งพ่อเมืองในขณะนั้น โบราณสถานต่างๆในเวียงเชียงใหม่ก็คงจะไม่หลงเหลืออยู่ ในยุคที่ท่านเป็นพ่อเมืองเป็นจุดเริ่มต้นในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของเมืองเชียงใหม่อย่างจริงจัง ย่างก้าวแรกอันเป็นก้าวที่มั่นคงของเมืองโบราณอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวจึงสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ เราต้องช่วยกันปกป้องรักษามรดก เพื่อคงความเป็น นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ เมืองโบราณอายุเจ็ดร้อยกว่าปี ให้คงอยู่ตราบชั่วลูกชั่วหลาน


เรียบเรียงจากบทความของ พ.ต.อ.อนุ เนินหาด,บทความ ตึกแถวบนลานท่าแพ เชียงใหม่ รอยแผลในอดีตเมืองเก่าแก่ นสพ.เชียงใหม่นิวส์,บทความ คนซื่อซื่อ ชัยยา พูนศิริวงศ์ โดย ไพโรจน์ จันทรนิมิ
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1145
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

Re: เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

โพสต์โดย ภาษาสยาม » พุธ 12 ก.ย. 2018 6:33 am

ประเพณีแห่สลุงหลวง จังหวัดลำปาง

262548-53497b66f3946.jpg
262548-53497b66f3946.jpg (93.27 KiB) เปิดดู 8606 ครั้ง


สลุง เป็นภาษาพื้นเมืองของชาวล้านนา หมายถึง ภาชนะใส่ของบูชาพระเจ้า ซึ่งส่วนใหญ่ทำด้วยโลหะเงิน มีลักษณะเช่นเดียวกับขันน้ำ มีขนาดแตกต่างกันตามความต้องการในการนำไปใช้สอย หลวง แปลว่าใหญ่ สลุงหลวงจึงแปลว่า ภาชนะใส่ของบูชาพระเจ้าใบใหญ่ ในอดีตเมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็นวันเถลิงศกใหม่ของชาวล้านนา มีประเพณีสรงน้ำพระ ชาวบ้านนำขมิ้น ส้มป่อย น้ำอบ น้ำหอมใส่ในสลุงไปสรงน้ำพระที่วัด ถือเป็นการแสดงความเคารพบูชาในองค์พระที่ให้ความสุขสงบร่มเย็น

การสรงน้ำพระที่ถูกต้องตามประเพณี มิใช่การสาดน้ำไปสู่องค์พระอย่างที่บางแห่งปฏิบัติ แต่จะใช้วิธีตักน้ำจากสลุงเทสู่ รางริน ซึ่งเป็นทางให้น้ำขมิ้น ส้มป่อย น้ำอบ น้ำหอม ไหลไปสรงองค์พระ อันถือว่าเป็นการสรงน้ำที่ถูต้องตามประเพณี น้ำที่สรงองค์พระจะไหลไปสู่ภาชนะที่รองรับไว้ และถือเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวล้านนาในอดีตนำมาประพรมศีรษะ ร่างกายหรือที่อยู่อาศัยเพื่อความเป็นสิริมงคล ร่มเย็นเป็นสุขแก่ชีวิตและครอบครัวของตนสืบไป

ชาวลำปาง จึงยึดถือประเพณีสรงน้ำองค์พระแก้วมรกตดอนเต้าสืบมาตลอด การจัดขบวนแห่สลุงหลวง เพื่อรับน้ำขมิ้น ส้มป่อย น้ำอบ น้ำหอม ถือเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมแต่โบราณ ซึ่งปัจจุบันสภาพแวดล้อมแตกต่างจากอดีต สืบเนื่องมาจากความเจริญทำให้สิ่งที่ดีงามลบเลือนหายไปมาก
สิ่งที่น่าภาคภูมิใจของชาวลำปางอีกประการหนึ่ง คือ " สลุงหลวงเงิน" ทำด้วยเงินหนัก ๓๘ กิโลกรัม หรือ ๒,๕๓๓ บาท มีความกว้าง ๘๙ เซนติเมตร สูง ๔๙ เซนติเมตร ชาวลำปางได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์เป็นจำนวนถึง ๔๓๒,๓๙๘ บาท เพื่อจัดสร้างสลุงหลวงเงินขึ้นในปี ๒๕๓๓

ส่วนรอบๆ ขอบสลุงด้านบนภายนอกจารึกเป็นภาษาพื้นเมืองล้านนา มีข้อความว่า "สลุงแก่นนี้จาวเมืองลำปางแป๋งต๋านไว้ใส่น้ำอบ น้ำหอม ขมิ้น ส้มป่อย สระสรงองค์พระเจ้าแก้วดอนเต้า เวียงละกอนในวันปี๋ใหม่เมือง เพื่อค้ำจุนพระศาสนา ฮอดเติงห้าปันวรรษา" แปลว่า "สลุงหลวงใบนี้ชาวเมืองลำปางจัดสร้างถวายไว้ใส่น้ำอบ น้ำหอม ขมิ้ม ส้มป่อย เพื่อสรงพระเจ้าแก้วดอนเต้า แห่งเวียงละกอน ในวันปีใหม่เมืองลำปาง เพื่อค้ำจุนพระศาสนา จวบจนห้าพันพรรษา"

วัตถุประสงค์ในการจัดสร้างสลุงหลวง เพื่อใช้เป็นภาชนะใส่น้ำสรงพระแก้วมรกตดอนเต้า องค์พระศักดิ์สิทธิ์ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน คู่บ้านคู่เมืองลำปาง โดยจัดสร้างให้มีความใหญ่โต สมศักดิ์ศรีมีความแข็งแรง ทนทาน สอดคล้องกับการใช้สอยในพิธีที่จัดขึ้น เป็นการแสดงออกถึงความสามัคคีของชุมชนชาวลำปาง และเป็นการรักษาวัฒนธรรมให้สืบไป และเพื่อเป็นการสร้างจุดเด่นและเอกลักษณ์ให้แก่เมืองลำปาง ให้เป็นสมบัติประจำเมือง โดยมีพิธีบายศรีสู่ขวัญสลุงหลวงเงินของชาวลำปาง ในวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๓ ในขบวนแห่สลุงหลวงเงิน พิธีบายศรีสู่ขวัญครั้งนั้นประกอบด้วย

๑. เจ้านายในราชตระกูล ณ ลำปาง ถือขันเงิน

๒. รำฟ้อนพื้นเมืองและดนตรีโตกเส้ง

๓. ผู้ร่วมขบวนแต่งกายล้านนา

๔. แคร่แห่สลุงหลวงเงิน

ต่อมาทางชมรมเทิดมรดกเขลางค์นคร ได้จัดสร้างฐานสลุง ทำด้วยไม้แกะสลักและประดิษฐ์เป็นรูปเทวดารอบๆ ฐานขึ้นอีก ๖ องค์ ในปี ๒๕๓๔ ประกอบเป็นฐานสูง ขนาด ๙๑ เซนติเมตร กว้าง ๘๐ เซนติเมตร บุด้วยเงินบริสุทธิ์หนัก ๑,๕๐๐ บาท (๒๓ กิโลกรัม) หุ้มโดยรอบ ดูแล้วเป็นสลุงตั้งบนแท่นแลดูสง่างามเข้ากันเป็นอย่างดีทั้งตัวสลุงและฐาน ในปีเดียวกันชาวลำปางได้ร่วมกันบริจาคเงินสร้างบังวันโลหะเงิน เป็นเครื่องประดับสลุงอีกอย่างหนึ่ง


ขบวนแห่สลุงเริ่มจากการแห่ตุง (ธง) ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่เต็มไปด้วยสีสันในขบวนแห่ตุงแต่ละผืน มีความหมายในตัว มีทั้งตุงสีชมพูอ่อน ชมพูเข้ม สีส้ม สีเหลือง เขียวสลับลายชมพูและฟ้า ผู้แห่ในขบวนส่วนใหญ่ประกอบด้วยชายหนุ่มที่โพกผ้าขาวไว้บนศีรษะ เปลือยกายท่อนบนส่วนท่านล่างบางคนนุ่งกางเกงขาสั้นสีแดงบ้าง สีดำบ้าง ในขณะที่บางคนนุ่งกางเกงขายาวสีขาว มีผู้ร่วมขบวนแห่นับร้อยคน แลดูตื่นตาตื่นใจสำหรับผู้พบเห็น

ต่อจากขบวนตุงเป็นขบวนเครื่องสายและเครื่องเป่าที่คอยประโคมให้ขบวนแห่ครบเครื่อง ทั้งสีสันอันสดสวย และเสียงเครื่องดนตรีขับกล่อมที่สร้างมนตร์ตราตรึงให้ผู้พบเห็นได้เข้าถึง พิธีอันศักดิ์สิทธิ์นี้ได้โดยง่าย

ต่อจากนั้นเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในขบวนแห่ คือ ชาวลำปางจะอาราธนาพระเจ้าแก้วมรกต และพระเจ้าแก่นจันทร์ ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงของชาวลำปางมาร่วมในงานประเพณีสงกรานต์ ปีใหม่ของเมืองลำปาง เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมกันสรงน้ำพระพุทธรูปทั้ง ๒ องค์ จากสลุงหลวงเงินสู่ลำรางสรงน้ำต่อไปตามลำดับ

วรุฒ วรธรรม เทพบุตรสลุงหลวงคนแรก..ในพิธีแห่สลุงหลวง ครั้งที่ ๒ งานปี๋ใหม่เมือง เขลางค์นคร พ.ศ.๒๕๓๑

41503630_2038887796163246_1470129711572058112_n.jpg
41503630_2038887796163246_1470129711572058112_n.jpg (39.21 KiB) เปิดดู 8604 ครั้ง
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1145
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

Re: เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

โพสต์โดย น้ำฝน ทะกลกิจ » เสาร์ 06 ต.ค. 2018 10:19 pm

ฟ้อนเล็บคณะสิษธา ณ วัดพระสิงห์ฯ เชียงใหม่ พ.ศ.๒๕๕๘

น้ำฝน ทะกลกิจ
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 1111
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 30 ก.ย. 2018 1:00 pm

Re: เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

โพสต์โดย น้ำฝน ทะกลกิจ » พฤหัสฯ. 22 พ.ย. 2018 8:51 pm

ยี่เป็งแห่งล้านนา

yeepeng.jpg
yeepeng.jpg (134.99 KiB) เปิดดู 8218 ครั้ง



ด้วยความที่เพื่อนๆในเฟซบุ๊กของอิฉันมาจากหลายภาคของประเทศไทย เวลาโพสต์อะไรจึงมักจะมีคำถามที่ถามด้วยความสนใจมาเสมอ ซึ่งตัวอิฉันเองไม่เคยรำคาญที่จะเล่าเรื่องราวของเมืองล้านนาให้ทุกคนได้รับทราบ วันนี้โพสต์ภาพไปมีคำถามว่า “จะทำกิจกรรมเหล่านี้เฉพาะวันลอยกระทงเท่านั้นหรือ” เราไม่มีวันลอยกระทงค่ะ เรามีแต่ยี่เป็ง ซึ่งตรงกับวันเพ็ญ เดือนยี่ เดือนทางล้านนาจะเร็วกว่าเดือนไทย ๒ เดือน ของท่านเดือนสิบสอง ของเราก็จะเป็นเดือนยี่แล้ว ในวันนี้ตอนเช้าเราจะไปวัด ทำบุญตักบาตร และฟังเทศน์ เทศน์มหาชาติ ในตอนกลางวันก็จะปล่อยว่าวลม หรือว่าวฮม หรือชื่ออื่นๆแล้วแต่ท้องถิ่น เพื่อเป็นพุทธบูชา และเป็นการบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ เราจะปล่อยรวมกันทั้งหมู่บ้านที่วัด ว่าวของเราจะมีลักษณะคล้ายๆบอลลูน ใช้ควันรมให้ลอยขึ้น ไม่ใช่ติดไฟแบบที่ขายกันเกลื่อนเมือง ดังนั้นเรื่องไฟไหม้นั้น ถ้าทำตามประเพณีจริงๆจะไม่มีปัญหา นอกจากนี้แต่ละบ้านจะทำซุ้มประตูป่า ซึ่งเป็นการรำลึกถึงเมื่อครั้งที่พระพุทธองค์เสด็จจากป่ามาสู่เมือง ทำเขาวงกตที่ทางขึ้นวิหาร พอตกเย็นก็จุดผางประทีป (ผางปะตี้ด) เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ตามตำนานแม่กาเผือก จุดบอกไฟดอก และมีการล่องสะเปา ประเพณีดั้งเดิมของเราไม่มีการลอยกระทง การลอยกระทงเป็นการรับวัฒนธรรมไทยมาผสมผสานกับล้านนา เริ่มมีการลอยกระทงเมื่อประมาณร้อยปีมานี่เอง โดยพระราชชายาเจ้าดารารัศมี เป็นผู้ทรงริเริ่มการลอยกระทงที่เชียงใหม่พระองค์แรก ประเพณีของเราเป็นแบบนี้..แต่ทุกอย่างกลายเป็นประเพณีเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะโคมลอยยี่เป็งที่ทำแบบง่ายๆขาย นักท่องเที่ยวก็พากันซื้อลอยเต็มไปหมดเพราะราคาถูก แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า ตามความเชื่อล้านนานั้น หากลอยโคมพร่ำเพรื่อไม่ได้รวมกันลอยในวัด หรือในคืนยี่เป็ง ถือว่า “ตกขึด” ดังนั้นวันเกิด วันปีใหม่ ฯลฯ จึงไม่ควรลอยโคม เพราะตามประเพณีนั้น เขาจะประดิษฐ์โคม(ว่าว)กันเป็นหมู่บ้าน ลอยรวมกันที่วัด ในวันยี่เป็งวันเดียวเท่านั้น จึงจะถือว่าเป็นสิริมงคลต่อชีวิต
น้ำฝน ทะกลกิจ
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 1111
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 30 ก.ย. 2018 1:00 pm

Re: เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

โพสต์โดย น้ำฟ้า » พฤหัสฯ. 07 ก.พ. 2019 8:51 pm

#พระพุทธศาสนาสมัยล้านนา

22365508_1650266705025359_715367472915767571_n.jpg
22365508_1650266705025359_715367472915767571_n.jpg (39.63 KiB) เปิดดู 7751 ครั้ง


พระพุทธศาสนาเข้ามาสู่ดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๓๖ สมัยเดียวกันกับประเทศศรีลังกา ด้วยการส่งพระสมณทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศต่างๆ ๙ สาย โดยการอุปถัมภ์ของพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์อินเดีย ในขณะนั้นประเทศไทยรวมอยู่ในดินแดนที่เรียกว่าสุวรรณภูมิ ซึ่งมีขอบเขตกว้างขวาง มีประเทศรวมกันอยู่ในดินแดนส่วนนี้ทั้ง ๗ ประเทศในปัจจุบัน ได้แก่ ไทย พม่า ศรีลังกา ญวน กัมพูชา ลาว มาเลเซีย ซึ่งสันนิษฐานว่ามีใจกลางอยู่ที่จังหวัดนครปฐมของไทย เนื่องจากได้พบโบราณวัตถุที่สำคัญ เช่นพระปฐมเจดีย์ และรูปธรรมจักรกวางหมอบเป็นหลักฐานสำคัญ แต่พม่าก็สันนิษฐานว่ามีในกลางอยู่ที่เมืองสะเทิม ภาคใต้ของพม่า พระพุทธศาสนาเข้ามาสู่สุวรรณภูมิในยุคนี้ นำโดยพระโสณะและพระอุตตระ พระเถระชาวอินเดีย เดินทางมาเผยแผ่พุทธศาสนาในแถบนี้ จนเจริญรุ่งเรืองมาตามลำดับ

ในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ภาคเหนือของไทยสมัยปัจจุบันนั้น ในอดีตเคยเป็นที่ตั้งแห่งอาณาจักรล้านนาอันรุ่งเรือง พระนางจามเทวี พระราชธิดาแห่งกษัตริย์มอญ ในอาณาจักรทวาราวดีได้ขึ้นมาครองเมืองหริภุญไชยทรงเป็นกษัตริย์องค์แรก

เมืองหริภุญไชย คือ ลำพูนในปัจจุบัน
๑. ได้ทรงนำเอาอารยธรรมแบบทวาราวดีขึ้นมาเผยแผ่ เช่น การสร้างสถูป สุวรรณจังโกฎิเจดีย์ เป็นต้น
๒.ทรงนำเอาพระพุทธศาสนาเถรวาทมาเผยแผ่ด้วย ทำให้พุทธศาสนาประดิษฐานอย่างมั่นคงในสมัยนี้
๓. ทรงสร้างวัดไว้ ๔ มุมเมือง เรียกว่า เป็นจตุรพุทธปราการ
๔. เมื่องขอมมีอำนาจทำให้อิทธิของศิลปะทวาราวดีสามารถกั้นวัฒนธรรมของขอมถึงแค่ลำน้ำปิงเท่านั้น
๕. สมัยพระเจ้าอาทิจจราชแห่งลำพูน ทรงสร้างพระธาตุหริภุญไชย มีการเรียนพระไตรปิฎก พุทธศาสนาใช้ภาษาแบบบาลีเพราะไทยติดต่อกับลังกา

ในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ พญามังราย กษัตริย์แห่งนครเงินยาง (เชียงแสนเก่า) ได้รวบรวมเผ่าไทยในอาณาจักรล้านนาขึ้นเป็นปึกแผ่นเพราะทรงขับไล่มอญออกจากลุ่มน้ำปิงสำเร็จ ปี พ.ศ.๑๘๓๙ พญามังราย ทรงสร้างราชธานีขึ้น ชื่อว่า "นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่" ได้ตั้งถิ่นฐาน ณ ลุ่มแม่น้ำปิง ได้สร้างเมือง สร้างวัง และวัดขึ้น ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ได้สร้างวัดต่าง ๆ มากมาย ทั้งที่เป็นฝ่ายคามวาสี และอรัญญวาสี จนพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง เมืองต่างๆ ในอาณาจักรล้านนา เช่น เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน และพะเยา ต่างก็มีความเจริญรุ่งเรือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านพระพุทธศาสนา พิธีกรรมและความเชื่อทางศาสนามีอิทธิพลต่อชาวล้านนาอย่างมาก
๑. เข้าตีเมืองหริภุญไชย ทอดพระเนตรเห็นวัดพระบรมธาตุ โดนไฟไฟหม้แต่วิหารที่ประดิษฐานพระเสตังคมณี(พระแก้วขาว สร้างในสมัยพระนางจามเทวี) ไม่ไหม้ไฟก็ทรงเลื่อมใสมาก
๒. ทรงโปรดสร้างเมืองที่เชิงเขาสุเทวบรรพต (ดอยสุเทพ) บนฝั่งขวาแม่น้ำปิง ปัจจุบันนี้คือ เชียงใหม่(นวบุรี)
๓. เป็นกษัตริย์องค์แรกแห่งล้านนา
๔. ทรงสร้างวัดเชียงมั่น เพื่อประดิษฐานพระเสตังคมณีโดยสถาปนาพระตำหนักเป็นวัด
๕. ทรงรับพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทจากมอญ ศิลปกรรมทางศาสนา จึงมีอิทธิพลทวาราวดีอยู่มาก

นักโบราณคดีแบ่งสมัยพระพุทธรูปทางภาคเหนือ เป็น ๒ สมัย คือ
๑. เชียงแสนยุคต้น พระพุทธรูปเป็นแบบอินเดียสมัยราชวงศ์ปาละมหาวิทยาลัยนาลันทากำลังรุ่งเรือง นักปราชญ์เดินทางไปมาอยู่เนืองๆ ลักษณะของพระพุทธรูป พระองค์อวบอ้วน พระรัศมีเป็นต่อมกลม นั้งขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์มารวิชัย (พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางห้อยลงมาทางพระชานุขวา) พระอุระนูน ชายสังฆาฏิสั้นอยู่เหนือราวพระถัน พระพักตร์กลมสั้น พระขนงโก่ง พระนาสิกงุ้ม พระโอษฐ์เล็ก พระหนุเป็นปม เส้นพระศกใหญ่เป็นต่อมกลม หรือเป็นก้นหอย ไม่มีไรพระศก ฐานมีบัวรองมีทั้งบัวคว่ำบัวหงาย มีกลีบแซมและมีเกสร
๒. เชียงแสนรุ่นหลัง เป็นของไทย ชาวล้านนาและลานช้างทำอย่างสุโขทัย มีลักษณะต่างจากรุ่นแรกมาก คือ ลักษณะของพระพุทธรูป ทำรัศมีเป็นเปลว นั่งขัดสมาธิราบ ชายสังฆาฏิยาว เสันพระศกละเอียด มีไรพระศกเอาอย่างมาจากสุโขทัยซึ่งสุโขทัยก็เอาอย่างมาจากลังกา

สมัยพระเจ้ากือนา
ทรงเป็นธรรมิกราช ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข พระองค์ทราบข่าวว่าพระชาวลังกาชื่อ พระอุทุมพรบุบผามหาสวามี มาอาศัยอยู่ที่นครพัน(เมาะตะมะ) เผยแผ่ลัทธิลังกาวงศ์อยู่ จึงส่งทูตไปนิมนต์ แต่พระอุทุมพรฯ ทรงปฏิเสธว่าชรามากแล้ว จึงส่งพระหลานชายมาแทน ชื่อ พระอนันทเถระ
เหตุการณ์สำคัญในสมัยพระเจ้ากือนา
๑. ทรงบวชกุลบุตรชาวเชียงใหม่ตามแบบลังกาวงศ์ โดยพระอุทุมพรฯ สั่งให้นิมนต์พระจากสุโขทัย(สมัยพระเจ้าลือไทย)มาเป็นอุปัชฌาย์ คือ พระสุมนเถระ กับพระอโนทัสสีเถระ ส่วนตัวพระอุทุมพร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ทั้งสองมาจำพรรษาที่วัดพระยืน ลำพูน อุปสมบทชาวลำพูนเป็นจำนวนมาก เมื่อออกพรรษาจึงขึ้นไปเชียงใหม่ จำพรรษาอยู่ที่วัดสวนดอก
๒. ทรงสถาปนาพระสุมนะเถระ ขึ้นเป็นพระสังฆราช เป็นองค์แรกแห่งล้านนา
๓. พระเจ้ากือนาทรงสร้างพระบรมธาตุส่วนหนึ่งที่วัดสวนดอกและที่ดอยสุเทพ(สุเทวบรรพต) เป็นศิลปะแบบลังกา

สมัยพระเจ้าแสนเมือง
เมื่อพระเจ้ากือนาเสด็จสวรรคตโอรสชื่อพระเจ้าแสนเมืองขึ้นครองราชย์ได้พระพุทธสิหิงค์มาจากเชียงราย จึงโปรดสร้างวัดพระสิงห์ เป็นที่ประดิษฐานจนถึงปัจจุบัน

สมัยพระเจ้าติโลกราช พระราชนัดดาของพระเจ้าแสนเมือง
ในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ ได้ทำการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรกในดินแดนประเทศไทยปัจจุบันขึ้น ณ วัดมหาโพธาราม (วัดเจ็ดยอด) เมื่อ ปี พ.ศ.๒๐๒๐ ในสมัยล้านนา ได้เกิดมีพระเถระนักปราชญ์ชาวล้านนาหลายรูป ท่านเหล่านั้นได้รจนาคัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนาไว้เป็นจำนวนมาก ได้แก่ พระสิริมังคลาจารย์ พญาณกิตติเถระ พระรัตนปัญญา พระโพธิรังษี พระนันทาจารย์ และพระสุวรรณรังสี ในช่วงเวลานั้นคณะสงฆ์ได้แตกแยกออกเป็น ๓ นิกาย คือ
๑. นิกายเดิม
๒. นิกายที่สืบเนื่องมาจากพระสุมนะ
๓. นิกายลังกาวงศ์ใหม่ มีพระเมธังกร เป็นหัวหน้าตั้งสำนักที่วัดป่ากวางเชิงดอยสุเทพประพฤติ
เคร่งครัดกว่าลังกาวงศ์เดิมซึ่งตั้งอยู่ที่วัดสวนดอก พวกอำมาตย์เลื่อมใสพระสงฆ์ลังกาวงศ์ใหม่ ทรงอุปถัมภ์นานาประการ ได้ผนวชในนิกายนี้เป็นเวลา ๗ วัน เมื่อปี พ.ศ.๑๙๙๕ ทรงสถาปนาพระเมธังกรเป็นพระสังฆราชแห่งล้านนา

เหตุการณ์สำคัญในสมัยพระเจ้าติโลกราช
๑. พ.ศ.๑๙๙๙ โปรดให้สร้างวัดชื่อมหาโพธาราม ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองเชียงใหม่ จำลองแบบวิหารพุทธคยา โลหะปราสาทรัตนมาลีเจดีย์ขึ้น ซึ่งเรียกว่าวัดเจดีย์เจ็ดยอดมาถึงทุกวันนี้
๒. พ.ศ.๒๐๒๐ โปรดให้มีการทำสังคายนา พระธรรมวินัยขึ้น ณ วัดมหาโพธาราม มีพระธรรมทินนาเถระเป็นประธาน ทำการสังคายนาอยู่ ๑ ปี จึงแล้วเสร็จ
๓. การศึกษาทางเมืองเหนือรุ่งเรืองกว่าทางอยุธยา มีพระเถระเชียงใหม่รจนาปกรณ์เป็นภาษาบาลีหลายรูป เช่น พระสิริมังคลาจารย์ และพระรัตนปัญญาเป็นต้น

สมัยพระเจ้าเมืองแก้ว
เหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศสานา
๑. ทรงสร้างวัดและเรื่องบวชเป็นกิจประจำทุกปี มีพิธีบวชนาคครั้งใหญ่คือ พิธีบวชนาคหลวง จำนวน ๑,๒๐๐ รูป มีพิธีติดต่อกันหลายวัน
๒. มีการฟื้นฟูศาสนาจนได้มีคัมภีร์สำคัญที่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้คือ
๒.๑ ปัญญาสชาดก คือ ชาดก ๕๐ เรื่อง เช่น สมุทโฆษชาดก แต่งเลียนแบบอรรถกถาชาดกเก่าลังกา เป็นต้น
๒.๒ พระสิริมังคลาจารย์ แต่งคัมภีร์มังคลัตถทีปนี อธิบายมงคลสูตร(มงคล ๓๘) แต่งพระเวสสันดรทีปนี อธิบายเรื่องพระเวสสันดร ฯลฯ
๒.๓ พระญาณกิตติ แต่งโยชนา(หนังสือประกอบ) พระวินัย และ พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ แลัโยชนาอภิธัมมัตถสังคหะ
๒.๔ พระรัตนปัญญา แต่งชินกาลมาลีปกรณ์ เป็นประวัติศาสตร์ พุทธศาสนาในลังกาและเมืองไทยโดยสังเขป

การสร้างวัดของชนชาวล้านนา มีความเชื่อว่า วัดมีความหมายในฐานะจักรวาลอันเป็นที่รวมของสรรพสิ่ง สรรพสัตว์ต้องเวียนว่ายตายเกิดตามวัฏสังสาร กำแพงวัดเปรียบเสมือนจักรวาลอันหาที่สุดมิได้ พระวิหารเปรียบเสมือนอนุทวีป อันเป็นที่สถิตของเหล่าทวยเทพ พระธาตุเจดีย์เปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุ อันเป็นแกนกลางของจักรวาล ลานทรายรอบๆวัดเปรียบได้กับทะเลสีทันดรอันล้อมรอบเขาพระสุเมรุ เหตุนี้เองจึงทำให้สรรพสัตว์ผู้มีกรรมเป็นผู้กำหนด ต้องแหวกว่ายเพื่อจะข้ามท้องทะเลไปพบแสงแห่งพระธรรม นอกจากนี้วัดทุกวัดและองค์พระประธานจะถูกสร้างให้หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเสมอ เพื่อให้รับแสงแห่งอรุณซึ่งเปรียบประดุจประทีปธรรมแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า บันไดที่ทอดลงมาจากวิหารจะมีนาคเฝ้า เพื่อรำลึกถึงเมื่อครั้งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จเทศนาธรรมโปรดสัตว์ ได้มีพญานาคตนหนึ่งเกิดความเลื่อมใสจึงขอบวชเป็นพระสาวก แต่พระพุทธองค์ไม่อนุญาต พญานาคจึงขอติดตามรับใช้พระองค์ไปทุกหนทุกแห่ง พุทธบัญญัติจึงบัญญัติเอาไว้ว่า ก่อนจะบวชเป็นพระหรือสามเณรผู้บวชจะต้องบวชเป็นนาคก่อน เพื่อระลึกถึงความตั้งใจของพญานาคตนนั้น และเป็นที่มาของการสร้างบันไดนาคให้เฝ้าองค์พระบนวิหารสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

ที่มา พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). พระพุทธศาสนาในอาเซีย
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

โพสต์โดย น้ำฝน ทะกลกิจ » เสาร์ 16 ก.พ. 2019 9:59 pm

เรือนมิชชันนารีแพร่
ร่องรอยอดีตที่ยังคงหลงเหลืออยู่

ภาพนี้ถ่ายบริเวณหน้าบ้านพักเรือนไม้สักหลังที่ย้ายมาใหม่จากฝั่งซ้ายแม่น้ำยมของคณะมิชชันนารีแพร่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ จะเห็นว่าชาวต่างชาติกำลังเล่นกีฬา “โปโล” หน้าลานโล่งหน้าเรือนพักหลังใหญ่ที่มองเห็นอยู่ด้านหลัง

มิชชันนารีแพร่.jpg
มิชชันนารีแพร่.jpg (125.07 KiB) เปิดดู 6122 ครั้ง


จาก The Laos News (July ๑๙๑๓, p. ๕๖-๕๗) นายแมคมัลลินได้บันทึกเหตุการณ์ในตอนนั้นไว้ในบทความ “Twenty Years after in Pre” (ยี่สิบปีให้หลังในแพร่) ดังนี้ “วันที่ ๕ พฤษภาคม (พ.ศ. ๒๔๕๖) ยี่สิบปีหลังจากที่นายแพทย์บริกส์และนางบริกส์ได้เปิดศูนย์ฯ แพร่ นายแพทย์และนาง อี.ซี. คอร์ท และนายเอ.บี. แมคมัลลิน ซึ่งเป็นมิชชั่นนารีประจำศูนย์ฯ แพร่ ได้ย้ายจากที่ตั้งเดิมที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำยมมาที่ที่ตั้งใหม่ของศูนย์ฯ ซึ่งอยู่ที่ ถ. ท่าอิฐ เชื่อมกับสถานีรถไฟซึ่งอยู่ห่างไปประมาณ ๑๕ ไมล์

การย้ายครั้งนี้เป็นเรื่องจำเป็นเพราะศูนย์ฯ เก่าถูกน้ำกัดเซาะตลิ่ง ที่ตั้งศูนย์ฯ แห่งใหม่อยู่บนถนนที่มีคนสัญจรไปมามากที่สุดของจังหวัดแพร่ มุ่งไปสู่จังหวัดอุตรดิตถ์ซึ่งเป็นจุดสำคัญในการขนส่งสินค้าทางเรือไปยังตอนใต้ของประเทศจีน หัวเมืองลาว และกรุงเทพฯ ที่ตั้งของศูนย์ฯ อยู่ใกล้กับตลาดที่คึกคักที่สุดของแพร่ ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำหรับการดำเนินกิจกรรมของคริสตจักร เมื่อเราซื้อที่ผืนนี้ มีอาคารไม้เก่าอยู่แล้วหลังหนึ่ง เราได้ดัดแปลงอาคารนี้เป็นโรงเรียนสตรี หอพักสำหรับนักเรียนบ้านไกลและครู ตอนนี้เราใช้อาคารนี้เป็นทั้งโบสถ์ โรงเรียน และอาคารอเนกประสงค์

สพาพของบ้านเป็นเรือนไม้สัก ใต้ถุนสูง หลังคาทรงจั่วมุงด้วยกระเบื้องว่าว ตกแต่งช่องลมประตูด้วยลายฉลุขนมปังขิง ลูกบิด กลอนประตูเป็นเหล็กหล่อมาจากยุโรป เรือนไม้หลังนี้มีขนาดใหญ่ แบ่งเป็น ๑๐ ห้อง มีห้องใต้หลังคาขนาดใหญ่สันนิษฐานว่า คงเป็นห้องนอนของลูกๆ มีหน้าต่างบานสูง ระบายอากาศได้ดีทำให้บ้านเย็น เป็นสถาปัตยกรรมของตะวันตกนำมาใช้ออกแบบโครงสร้างก่อสร้างอาคาร

ก่อนหน้านั้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๖ (ค.ศ.๑๘๙๓) หมอบริกส์ และหมอพีเพิลส์ จึงได้ซื้อที่ดินที่ริมฝั่งแม่น้ำยม บริเวณบ้านเชตะวัน ต.ในเวียง อ.เมือง จ.แพร่ ในราคา ๓๐๐ รูปี เดือนพฤษภาคม ปีเดียวกัน หมอบริกส์และครอบครัว ซึ่งเป็นมิชชั่นนารีครอบครัวแรกของจังหวัดแพร่ ก็ย้ายมาประจำที่ศูนย์มิชชั่นแห่งนี้ ได้ให้บริการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยทั่วไป จึงถือได้ว่าเป็นสถานพยาบาลแผนปัจจุบันแห่งแรกของจังหวัดแพร่ และได้รับการอนุญาตให้ตั้งเป็นศูนย์มิชชั่นได้อย่างเป็นทางการ จากจดหมายของหมอบริกส์ ระบุว่า ศูนย์มิชชั่นแพร่ ที่ บ้านเชตะวัน ต.ในเวียง อ.เมือง จ.แพร่ ระยะแรกประกอบด้วยบ้านพักของมิชชั่นนารี อาคารพยาบาล ห้องเก็บของ โบสถ์ บ้านพักคนงาน ยุ้งข้าว

ปัจจุบันเรือนไม้สักมิชชันนารีหลังนี้ได้รับการปรับปรุงให้มีสภาพแข็งแรง พร้อมนำมาใช้ประโยชน์ทางด้านการศึกษา โดย กศน.จังหวัดแพร่.

ภาพ : Heitage Observatory

หอหลวงสีป้อ

หอหลวงสีป้อ.jpg
หอหลวงสีป้อ.jpg (108.12 KiB) เปิดดู 6122 ครั้ง
น้ำฝน ทะกลกิจ
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 1111
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 30 ก.ย. 2018 1:00 pm

Re: เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

โพสต์โดย น้ำฝน ทะกลกิจ » เสาร์ 16 ก.พ. 2019 10:10 pm

มหาเจดีย์หลวงกับภาพอุโมงค์ใต้ฐานพระเจดีย์หลวง
อุโมงค์หรือรูถ้ำภายในฐานพระเจดีย์หลวงนั้น หมื่นด้ำพร้าคตเป็นผู้ก่ออุโมงค์หรือรูถ้ำภายในพระเจดีย์นั้นเป็นจริงตามตำนานและมีความเล่าขานกันมาว่าไปทะลุโผล่ที่ไหนต่อไหนหลายที่นั้น วันนี้มาดูภาพจริงที่ถูกบันทึกไว้โดย นายทิว วิชัยขัทคะ เมื่อตอนที่เจ้าหน้าที่หน่วยศิลปากรที่ ๔ เริ่มเข้าบูรณะ

ประตูทางเข้าอุโมงค์ของพระมหาเจดีย์หลวง ใต้บันไดนาคทางด้านทิศเหนือ

485614_347010335420973_12802364_n.jpg
485614_347010335420973_12802364_n.jpg (153.7 KiB) เปิดดู 6122 ครั้ง


จุดที่เห็นดวงไฟ คือ ทางสองแพร่ง
934783_347011898754150_1316649954_n.jpg
934783_347011898754150_1316649954_n.jpg (294.62 KiB) เปิดดู 6122 ครั้ง
น้ำฝน ทะกลกิจ
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 1111
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 30 ก.ย. 2018 1:00 pm

ย้อนกลับต่อไป

ย้อนกลับไปยัง ร้อยเรื่องเมืองล้านนา

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 54 ท่าน

cron