ครูบา พระอริยสงฆ์ ที่เกี่ยวข้องกับดินแดนล้านนา

เรื่องราวของอาณาจักรล้านนา

Re: ครูบา พระอริยสงฆ์ ที่เกี่ยวข้องกับดินแดนล้านา

โพสต์โดย น้ำฝน ทะกลกิจ » อาทิตย์ 08 ก.ย. 2019 2:26 pm

หลวงพ่อเกษม เขมโก อริยะสงฆ์เจ้าแห่งนครลำปางผู้ค้นพบสัจธรรมในป่าช้า
หลวงพ่อเกษม.jpg
หลวงพ่อเกษม.jpg (77.4 KiB) เปิดดู 6053 ครั้ง
น้ำฝน ทะกลกิจ
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 1111
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 30 ก.ย. 2018 1:00 pm

Re: ครูบา พระอริยสงฆ์ ที่เกี่ยวข้องกับดินแดนล้านา

โพสต์โดย น้ำฝน ทะกลกิจ » อาทิตย์ 08 ก.ย. 2019 3:02 pm

ครูบาเจ้าศรีวิชัย

"ต๋นข้าพระศรีวิชัยภิกขุ เกิดมาปิ๋เปิ๋กยี จุลศักราช ๑๒๔๐ ตั๋วพุทธศักราช ๒๔๒๐ ปรารถนาขอหื้อข้าฯ ได้ตรัสรู้ปัญญาสัพพัญญูโพธิญาณเจ้าจิ่มเตอะ"

ครูบาเจ้าศรีวิชัย.jpg
ครูบาเจ้าศรีวิชัย.jpg (280.27 KiB) เปิดดู 6052 ครั้ง


ครูบาศรีวิชัย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปโดยเฉพาะในเขตล้านนาว่าเป็น "ต๋นบุญ" หรือ "นักบุญ" อันมีความหมายเชิงยกย่องว่าเป็นนักบวชที่มีคุณสมบัติพิเศษ อาจพบว่ามีการเรียกอีกว่า ครูบาเจ้าศรีวิชัย พระครูบาศรีวิชัย ครูบาศีลธรรม หรือ ทุเจ้าสิริ (อ่าน "ตุ๊เจ้าสิลิ") แต่พบว่าท่านมักเรียกตนเองเป็น พระชัยยาภิกขุ หรือ พระศรีวิชัยชนะภิกขุ เดิมชื่อ เฟือน หรือ อินท์เฟือน บ้างก็ว่า อ้ายฟ้าร้อง เนื่องจากในขณะที่ท่านถือกำเนิดนั้น ปรากฏฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก ส่วนอินท์เฟือนนั้น หมายถึง การเกิดกัมปนาทหวั่นไหวถึงสวรรค์ หรือ เมืองของพระอินทร์ ท่านเกิดในปีขาล เดือน ๙ เหนือ (เดือน ๗ ของภาคกลาง) ขึ้น ๑๑ ค่ำ จ.ศ. ๑๒๔๐ เวลาพลบค่ำ ตรงกับวันอังคารที่ ๑๑ เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๑ ที่หมู่บ้านชื่อ "บ้านปาง" ตำบลแม่ตืน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ท่านเป็นบุตรของนายควาย นางอุสา มีพี่น้องทั้งหมด ๕ คน มีชื่อตามลำดับ คือ
๑. นายไหว
๒. นางอวน
๓. นายอินท์เฟือน (ครูบาศรีวิชัย)
๔. นางแว่น
๕. นายทา


ทั้งนี้นายควายบิดาของท่านได้ติดตามผู้เป็นตาคือ หมื่นปราบ (ผาบ) ซึ่งมีอาชีพเป็นหมอคล้องช้าง ของเจ้าหลวงดาราดิเรกฤทธิ์ไพโรจน์ (เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ ๗ ช่วง พ.ศ. ๒๔๑๔-๒๔๓๑) ไปตั้งครอบครัวบุกเบิกที่ทำกินอยู่ที่บ้านปาง บ้านเดิมของนายควาย อยู่ที่บ้านสันป่ายางหลวง ทางด้านเหนือของตัวเมืองลำพูน

ในสมัยที่ครูบาศรีวิชัย หรือนายอินท์เฟือน ยังเป็นเด็กอยู่นั้น หมู่บ้านดังกล่าวยังกันดารมาก มีชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่มาก โดยเฉพาะชาว ปกาเกอญอ (กะเหรี่ยง) ในช่วงนั้นบ้านปางยังไม่มีวัดประจำหมู่บ้าน จนกระทั่งเมื่อนายอินท์เฟือนมีอายุได้ ๑๗ ปี ได้มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ ครูบาขัตติยะ (ชาวบ้านเรียกว่า ครูบาแฅ่งแฅะ เพราะท่านเดินขากะเผลก) เดินธุดงค์จากบ้านป่าซาง ผ่านมาถึงหมู่บ้านนั้น ชาวบ้านจึงนิมนต์ท่านให้อยู่ประจำที่บ้านปาง แล้วชาวบ้านก็ช่วยกันสร้างกุฏิชั่วคราวให้ท่านจำพรรษา

ในช่วงนั้น เด็กชายอินท์เฟือนได้ฝากตัวเป็นศิษย์ และเมื่ออายุได้ ๑๘ ปีก็ได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่อารามแห่งนี้ โดยมีครูบาขัตติยะเป็นพระอุปัชฌาย์ ๓ ปีต่อมา (พ.ศ. ๒๔๔๒) เมื่อสามเณรอินท์เฟือนมีอายุย่างเข้า ๒๑ ปี ก็ได้เข้าอุปสมบทในอุโบสถวัดบ้านโฮ่งหลวง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน โดยมีครูบาสมณะ วัดบ้านโฮ่งหลวง เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับนามฉายาในการอุปสมบทว่า สิริวิชโยภิกฺขุ มีนามบัญญัติว่า พระศรีวิชัย ซึ่งบางครั้งก็พบว่าเขียนเป็น สรีวิไชย สีวิไช หรือ สรีวิชัย

เมื่ออุปสมบทแล้ว สิริวิชโยภิกขุก็กลับมาจำพรรษาที่อารามบ้านปางอีก ๑ พรรษา จากนั้นได้ไปศึกษากัมมัฏฐานและวิชาอาคมกับครูบาอุปละ วัดดอยแต อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ต่อมาได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของครูบาวัดดอยคำอีกด้วย และอีกท่านหนึ่งที่ถือว่าเป็นครูของครูบาศรีวิชัยคือ ครูบาสมณะ วัดบ้านโฮ่งหลวง ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่าน

ครูบาศรีวิชัยรับการศึกษาจากครูบาอุปละ วัดดอยแตเป็นเวลา ๑ พรรษาก็กลับมาอยู่ที่อารามบ้านปางจนถึง พ.ศ. ๒๔๔๔ (อายุได้ ๒๔ ปี พรรษาที่ ๔) ครูบาขัตติยะได้จาริกออกจากบ้านปางไป (บางท่านว่ามรณภาพ) ครูบาศรีวิชัยจึงรักษาการแทนในตำแหน่งเจ้าอาวาส และเมื่อครบพรรษาที่ ๕ ก็ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านปาง จากนั้นก็ได้ย้ายวัดไปยังสถานที่ที่เห็นว่าเหมาะสม คือบริเวณเนินเขาซึ่งเป็นที่ตั้งวัดบ้านปางในปัจจุบัน เพราะเป็นที่วิเวกและสามารถปฏิบัติธรรมได้เป็นอย่างดี โดยได้ให้ชื่อวัดใหม่แห่งนี้ว่า วัดจอมสรีทรายมูลบุญเรือง แต่ชาวบ้านทั่วไปยังนิยมเรียกว่า วัดบ้านปาง ตามชื่อของหมู่บ้าน

ครูบาศรีวิชัยเป็นผู้มีศีลาจารวัตรที่งดงามและเคร่งครัด โดยที่ท่านงดการเสพ หมาก เมี่ยง บุหรี่ โดยสิ้นเชิง ท่านงดฉันเนื้อสัตว์ตั้งแต่เมื่ออายุได้ ๒๖ ปี และฉันอาหารเพียงมื้อเดียว ซึ่งมักเป็นผักต้มใส่เกลือกับพริกไทเล็กน้อย บางทีก็ไม่ฉันข้าวทั้ง ๕ เดือน คงฉันเฉพาะลูกไม้หัวมันเท่านั้น นอกจากนี้ท่านยังงดฉันผักตามวันทั้ง ๗ คือ
วันอาทิตย์ ไม่ฉันฟักแฟง,
วันจันทร์ ไม่ฉันแตงโมและแตงกวา,
วันอังคาร ไม่ฉันมะเขือ,
วันพุธ ไม่ฉันใบแมงลัก,
วันพฤหัสบดี ไม่ฉันกล้วย,
วันศุกร์ ไม่ฉันเทา (อ่านว่า "เตา"- สาหร่ายน้ำจืดชนิดหนึ่ง ลักษณะคล้ายเส้นผม มีสีเขียว),
วันเสาร์ ไม่ฉันบอน


นอกจากนี้ผักที่ท่านจะไม่ฉันเลยคือ ผักบุ้ง ผักปลอด ผักเปลว ผักหมากขี้กา ผักจิก และ ผักเฮือด-ผักฮี้ (ใบไม้เลียบอ่อน) โดยท่านให้เหตุผลว่า ถ้าพระภิกษุสามเณรรูปใดงดได้ การบำเพ็ญกัมมัฏฐานจะเจริญก้าวหน้า ผิวพรรณจะเปล่งปลั่ง ธาตุทั้ง ๔ จะเป็นปกติ ถ้าชาวบ้านงดเว้นแล้วจะทำให้การถือคาถาอาคมดีนัก

ครูบาศรีวิชัยมีความปรารถนาที่จะบรรลุธรรมะอันสูงสุดดังปรากฏจากคำอธิษฐานบารมีที่ท่านอธิษฐานไว้ว่า "...ตั้งปรารถนาขอหื้อได้ถึงธรรมะ ยึดเหนี่ยวเอาพระนิพพานสิ่งเดียว..." และมักจะปรากฏความปรารถนาดังกล่าว ในตอนท้ายชองคัมภีร์ใบลานที่ท่านสร้างไว้ทุกเรื่อง

อีกประการหนึ่งที่ทำให้ครูบาศรีวิชัยเป็นที่รู้จักและอยู่ในความทรงจำของชาวล้านนา คือการที่ท่านเป็นผู้นำในการสร้างทางขึ้นสู่วัดพระธาตุดอยสุเทพ โดยพลังศรัทธาประชาชนเป็นจำนวนมาก ทั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์ ซึ่งใช้เวลาสร้างเพียง ๕ เดือนเศษ โดยไม่ใช้งบประมาณของรัฐ แต่เรื่องที่ทำให้ครูบาศรีวิชัยเป็นที่รู้จักกันในระยะแรกนั้น เกิดเนื่องจากการที่ท่านต้องอธิกรณ์ ซึ่งระเบียบการปกครองสงฆ์ตามจารีตเดิมของล้านนานั้น ให้ความสำคัญแก่ ระบบหมวดอุโบสถ หรือ ระบบหัวหมวดวัด มากกว่า และการปกครองก็เป็นไปในระบบพระอุปัชฌาย์อาจารย์กับศิษย์ ซึ่งพระอุปัชฌาย์รูปหนึ่งจะมีวัดขึ้นอยู่ในการดูแลจำนวนหนึ่ง เรียกว่า เจ้าหมวดอุโบสถ โดยคัดเลือกจากพระที่มีผู้เคารพนับถือและได้รับการยกย่องว่าเป็น ครูบา ซึ่งหมายถึงพระภิกษุที่ได้รับความยกย่องอย่างสูง

ดังนั้นครูบาศรีวิชัยซึ่งมีชื่อเสียงอยู่ในขณะนั้น จึงอยู่ในตำแหน่งหัวหมวดพระอุปัชฌาย์ โดยฐานะเช่นนี้ ครูบาศรีวิชัยจึงมีสิทธิ์ตามจารีตท้องถิ่นที่จะบวชกุลบุตรได้ ทำให้ครูบาศรีวิชัยจึงมีลูกศิษย์จำนวนมาก และลูกศิษย์เหล่านี้ก็ได้เป็นฐานกำลังที่สำคัญของครูบาศรีวิชัยในการดำเนินกิจกรรม ทางศาสนา และกิจกรรมสาธารณประโยชน์ อีกทั้งยังเป็นแนวร่วมในการต่อต้านอำนาจจากกรุงเทพฯ เมื่อเกิดกรณีขัดแย้งขึ้นในเวลาต่อมา

ส่วนสงฆ์ในล้านนาเอง ก็มีแนวปฏิบัติที่หลากหลาย เนื่องจากมีการจำแนกพระสงฆ์ตามจารีตท้องถิ่นออกเป็นถึง ๑๘ นิกาย และในแต่ละนิกายนี้ ก็น่าจะหมายถึง กลุ่มพระที่เป็นสายพระอุปัชฌาย์สืบต่อกันมาในแต่ละท้องที่ ซึ่งมีอำนาจปกครองในสายของตน โดยผ่านความคิดระบบครูกับศิษย์ และนอกจากนี้นิกายต่าง ๆ นั้นยังเกี่ยวข้องกับชื่อของเชื้อชาติอีกด้วย เช่น นิกายเชียงใหม่ นิกายขึน (เผ่าไทขึน/เขิน) นิกายยอง (จากเมืองยอง) เป็นต้น

สำหรับครูบาศรีวิชัยนั้นยึดถือปฏิบัติในแนวของนิกายเชียงใหม่ ผสมกับนิกายยอง ซึ่งมีแนวปฏิบัติบางอย่างต่างจากนิกายอื่น ๆ มีธรรมเนียมที่ยึดถือคือ การนุ่งห่มที่เรียกว่า กุมผ้าแบบรัดอก สวมหมวก แขวนลูกประคำ ถือไม้เท้าและพัด ซึ่งยึดธรรมเนียมมาจาก วัดดอยแต โดยสืบวิธีการนี้มาจากลังกา

การที่ครูบาศรีวิชัยถือว่าท่านมีสิทธิ์ที่จะบวชกุลบุตรได้ตามจารีตการถือปฏิบัติมาแต่เดิมนั้น ทำให้ขัดกับพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๖) เพราะในพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดว่า "พระอุปัชฌาย์ที่จะบวชกุลบุตรได้ ต้องได้รับการแต่งตั้งตามระเบียบการปกครองของสงฆ์จากส่วนกลางเท่านั้น" โดยถือเป็นหน้าที่ของเจ้าคณะแขวงนั้นๆ เป็นผู้คัดเลือกผู้ที่ควรจะเป็นอุปัชฌาย์ได้ และเมื่อคัดเลือกได้แล้ว จึงจะนำชื่อเสนอเจ้าคณะผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯ เพื่อดำเนินการแต่งตั้งต่อไป

การจัดระเบียบการปกครองใหม่ของกรุงเทพฯ นี้ถือเป็นวิธีการสลายจารีตเดิมของสงฆ์ในล้านนาอย่างได้ผล องค์กรสงฆ์ล้านนาก็เริ่มสลายตัวลงทีละน้อย เพราะอย่างน้อยความขัดแย้งต่างๆ ก็เกิดขึ้นระหว่างสงฆ์ในล้านนาด้วยกันเอง ดังกรณีความขัดแย้งระหว่างครูบาศรีวิชัยกับพระครูมหารัตนากร เจ้าคณะแขวงลี้ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นต้น

การต้องอธิกรณ์ระยะแรกของครูบาศรีวิชัยนั้น เกิดขึ้นเพราะ ครูบาศรีวิชัยถือธรรมเนียมปฏิบัติตามจารีตเดิมของล้านนา ส่วนเจ้าคณะแขวงลี้ซึ่งใช้ระเบียบวิธีปฏิบัติของกรุงเทพฯ ซึ่งเห็นว่าครูบาศรีวิชัยทำหน้าที่พระอุปัชฌาย์โดยไม่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าคณะแขวงลี้ จึงถือว่าเป็นความผิด เพราะตั้งตนเป็นพระอุปัชฌาย์เองและเป็นพระอุปัชฌาย์เถื่อน ครูบามหารัตนากรเจ้าคณะแขวงลี้กับ หนานบุญเติง นายอำเภอลี้ได้เรียกครูบาศรีวิชัยไปสอบสวนเกี่ยวกับปัญหาที่ครูบาศรีวิชัยเป็นพระอุปัชฌาย์บวชกุลบุตรโดยมิได้รับแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติ การจับกุมครูบาศรีวิชัยสามารถแบ่งช่วงเวลาออกเป็น ๓ ช่วง เนื่องจากเป็นระยะเวลาที่ยาวนานเกือบ ๓๐ ปี และแต่ละช่วงจะมีรายละเอียดของสภาพสังคมที่แตกต่างกัน
น้ำฝน ทะกลกิจ
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 1111
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 30 ก.ย. 2018 1:00 pm

Re: ครูบา พระอริยสงฆ์ ที่เกี่ยวข้องกับดินแดนล้านา

โพสต์โดย น้ำฝน ทะกลกิจ » อาทิตย์ 08 ก.ย. 2019 3:05 pm

ผลงานชิ้นสำคัญของครูบาศรีวิชัย “การสร้างถนนขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพ”

ครูบาเจ้าศรีวิชัยทำถนน.jpg
ครูบาเจ้าศรีวิชัยทำถนน.jpg (108.87 KiB) เปิดดู 6052 ครั้ง


การมีถนนขึ้นดอยสุเทพนั้น ย่อมมีคุณประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะผู้คนที่ศรัทธาจะได้ขึ้นไปไหว้พระธาตุอันสำคัญนี้ ได้ทั่วถึงกัน ครูบาศรีวิชัยนักบุญแห่งลานนาไทยนี่เองคือผู้สร้างถนนขึ้งสู่ดอยสุเทพ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ซึ่งนับเป็นผลงานอันยิ่งใหญ่ที่สุด ในชีวิตของท่านอีกงานหนึ่ง

ไม่มีใครเชื่อเลยว่าจะสามารถสร้างถนนผ่านป่าเขาอันทุรกันดาร และสูงชันจนไปถึงที่เชิงบันไดนาคของวัดพระบรมธาตุดอยสุเทพได้ แต่ครูบาศรีวิชัยท่านทำได้ด้วยมือเปล่าๆ เพียงสองข้างอีกเช่นเคย แถมใช้เวลาเพียง ๕ เดือน ๒๒ วันเท่านั้น

ระยะเวลาแค่นี้กับการสร้างถนนขึ้นเขา ระยะทางยาว ๑๑ กม. ในสมัยนั้นที่ยังไม่มีเครื่องจักรเครื่องยนต์ทุ่นแรงทันสมัย เหมือนทุกวันนี้ ครูบาศรีวิชัยท่านทำได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น ทางฝ่ายบ้านเมืองได้พยายามที่จะสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพมาหลาย ครั้งหลายหน แต่ต้องประสบความผิดหวังทุกคราว เพราะไม่สามารถจะสร้างได้ ทั้งปัญหาจากงบประมาณ และความทุรกันดารของป่าเขาที่จะต้องตัดถนนผ่าน

ครูบาศรีวิชัยได้พิสูจน์คำเล่าลือของชาวบ้านและสานุศิษย์ที่นับถือท่าน ว่าเป็น "ต๋นบุญ" หรือ "ผู้วิเศษ" อย่างแท้จริง เพราะการสร้างถนนขึ้นสู่ดอยสุเทพนี้เอง อันนับว่าเป็นช่วงที่ชีวประวัติของนักบุญแห่งลานนาไทยมีอภินิหารมหัศจรรย์น่าทึ่ง น่าติดตามกันต่อไปอย่างยิ่ง


การสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ เป็นความใฝ่ฝันของชาวนครเชียงใหม่มานานปี ด้วยจะทำให้การขึ้นไปนมัสการพระบรมธาตุดอยสุเทพสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยปกตินั้นการจะขึ้นไปไหว้พระธาตุจะต้องตื่นแต่เช้าตรู่ นั่งรถจากเวียง ไปที่วัดสวนดอก จนถึงเชิงดอยสุเทพ ตามแนวถนนเชิงดอยสุเทพสายปัจจุบันแล้ว จากนั้นก็เดินขึ้นสุเทพ ซึ่งจะต้องใช้เวลานาน ๕ ชั่วโมงเต็ม ในการเดินเท้าขึ้นเขา ส่วนคนมั่งมีก็อาจจะจ้างคนแบกหามขึ้นไปแบบผู้ที่ไปเที่ยวภูกระดึง หรือดอยขุนตาลในทุกวันนี้ อันนับว่าการขึ้นไปไหว้พระธาตุดอยสุเทพนั้นไม่ใช่สิ่งที่กระทำกันได้ง่ายๆ เลย ความคิดที่จะสร้างถนนขึ้นสู่ดอยสุเทพนั้นเริ่มมาแต่ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ นั่นเอง


ท่านครูบาศรีวิชัยยืนยันกับหลวงศรีประกาศว่า "ต้องทำถนนขึ้นดอยสุเทพสำเร็จแน่ๆ ขอให้เชื่อเถิด" คุณหลวงไม่มั่นใจเลย จึงขอร้องให้ครูบาศรีวิชัยอธิฐานทบทวนอีกครั้งหนึ่ง ครูบาศรีวิชัยก็รับคำ ครั้นเวลาล่วงเลยไปอีกประมาณ ๑๐ วัน หลวงศรีประกาศก็ไปพบครูบาศรีวิชัยที่วัดพระสิงห์เป็นครั้งที่สาม ครูบาศรีวิชัยก็ยังคงยืนยันว่า สร้างถนนขึ้นดอยสุเทพสำเร็จ พร้อมกับเล่านิมิตประหลาดที่เกิดขึ้น ให้หลวงศรีประกาศฟังว่า ในขณะที่กำลังทำการอธิษฐานเรื่องสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพว่าจะสำเร็จหรือไม่นั้น ท่านได้เคลิ้มไปว่าได้แลเห็นชีปะขาวองค์หนึ่งนำท่านเดินทางจากเชิงดอยไปจนถึงบันไดนาควัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ แล้วท่านก็ตกใจตื่น ท่านเชื่อว่านี้คือนิมิตที่เทวดามาบอกกล่าว ให้รู้ว่าจะสามารถสร้างถนนขึ้นสู่ดอยสุเทพได้อย่างแน่นอน


ครูบาศรีวิชัยได้รับปากว่าจะเป็นประธานในการสร้างถนนสายนี้ให้แล้วเสร็จภายในเวลาเพียง ๖ เดือน นั่นทำให้หลวงศรีประกาศ ผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่หนักใจยิ่งขึ้น เนื่องจากบริเวณเชิงเขาขึ้นดอยสุเทพ จนถึงบันไดนาควัดพระธาตุนั้น เป็นป่าใหญ่และหุบเหวลึกหลายต่อหลายแห่ง การที่จะสร้างถนนได้นั้นต้องสำรวจทางแผนที่ จัดทำรายละเอียด เส้นทางที่จะสร้างและอื่นๆ อีกมาก หลวงศรีประกาศได้รับเป็นธุระเรื่องนี้ การสำรวจเส้นทางถนนสายนี้ใช้เวลาเป็นเดือนเลยทีเดียว ในที่สุดก็สำเร็จ หลวงศรีประกาศได้นำเอาแผนที่เสนอให้พระครูบาศรีวิชัย ดูแนวการสร้างถนน ซึ่งครูบาก็เห็นด้วย รวมระยะทางจากเชิงดอยสุเทพถึงบันไดนาควัดพระธาตุดอยสุเทพทั้งหมด ๑๑ กิโลเมตร ๕๓๐ เมตร


ข่าวเรื่องครูบาศรีวิชัยจะสร้างถนนได้แพร่ออกไปเรื่อยๆ เป็นที่กล่าวขวัญกันทั่วไป ส่วนใหญ่แล้วเห็นว่า การสร้างถนนสายนี้ทำได้ยาก แต่บรรดาสานุศิษย์และผู้ใกล้ชิดพระครูทั้งหลาย ต่างเชื่อว่า ท่านสามารถทำได้อย่างแน่นอน ในจำนวนนั้นก็มีเจ๊กโหงวรวมอยู่ด้วย ทันทีที่เจ็กโหงวรู้ข่าว ก็รีบไปหาครูบาศรีวิชัยอย่างเคย ถึงแม้จะถูกลอบยิงปางตายมาแล้วก็ตาม ความช่วยเหลือสิ่งแรกของเจ็กโหงวก็คือ การพิมพ์ใบปลิวบอกข่าวเรื่องพระครูจะสร้างถนน โดยใช้เงินส่วนตัวพิมพ์ขึ้น ๕ พันแผ่น แจกจ่ายทั่วไป ต่อมาเจ้าแก้วนวรัฐเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ก็มีศรัทธาช่วยพิมพ์อีก ๕ พันแผ่นเช่นเดียวกัน ทำให้ข่าวแพร่ไปอย่างรวดเร็ว



พิธีลงจอบปฐมฤกษ์สร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ เมื่อ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๗๗ โดยเจ้าแก้วนวรัฐ เป็นผู้ลงจอบปฐมฤกษ์

ครูบาศรีวิชัยได้กำหนดฤกษ์ที่จะลงมือขุดจอบแรกสำหรับการ สร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ ในวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๗ และพิธีทางประวัติศาสตร์อันจารึกไว้คู่นครเชียงใหม่ก็เริ่มขึ้น ท่ามกลางประชาชนชาวเชียงใหม่และลำพูนเป็นจำนวนมาก


เริ่มสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ เมื่อ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๗๗

เวลา ๐๑.๐๐ น. ของวันที่ ๙ พระครูบาเถิ้มประกอบพิธีชุมนุมเทวดา บวงสรวงอันเชิญเทวดาทั้ง ๔ ทิศ

เวลา ๑๐.๐๐น. จึงเริ่มลงจอบแรก เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ทรงเป็นผู้ขุดจอบแรกเป็นปฐมฤกษ์ เริ่มต้นงานอันยิ่งใหญ่ครั้งนี้ ท่ามกลางเสียงสวดชยันโตชัยมงคลคาถา จากภิกษุสานุศิษย์ของท่านพระครูบาศรีวิชัย

หลังจากวันนั้นก็ได้มีประชาชน จากทั่วสารทิศมาช่วยกันสร้างถนน ร่วมเป็นอานิสงส์ พร้อมกับนมัสการท่านพระครูบาศรีวิชัยเป็นจำนวนมาก จนถึงกับต้องแบ่งพื้นที่การสร้างเป็นระยะๆ ในตอนเช้าก็ได้มีประชาชนนำเอาข้าวสาร อาหาร พืชผัก และอาหารคาวหวาน มาทำบุญกันอย่างล้นหลาม ยิ่งนานวันคนยิ่งทวีมากขึ้น ผลงานรุดหน้าในแต่ละวัน เป็นที่น่าอัศจรรย์ ต่างก็อยากทำบุญกุศลและชมบุญญาธิการบารมีของพระครูบาศรีวิชัย ในที่สุดถนนที่ทุกคนช่วยกันสร้างขึ้นก็สำเร็จลง ภายในระยะเวลา ๕ เดือน ๒๒ วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่รวดเร็วมาก โดยไม่ต้องใช้งบประมาณ แผ่นดินเลยแม้แต่บาทเดียว นี่คือบารมีของครูบาศรีวิชัยโดยแท้


๓๐ เมษายน ๒๔๗๘ คือวันประวัติศาสตร์วันหนึ่งของนครเชียงใหม่ เพราะเป็นวันเปิดถนนให้รถขึ้นดอยสุเทพเป็นครั้งแรก ในประวัติศาสตร์ ครูบาศรีวิชัย ครูบาเถิ้ม หลวงศรีประกาศ เถ้าแก่โหงวและบุคคลอื่นๆ ซึ่งมีส่วนร่วมในการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ มาชุมนุมอยู่กันอย่างพร้อมพรั่งเพื่อรอเวลาที่เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่จะมาทำพิธีเปิดถนนขึ้นดอยสุเทพ และประทับรถยนต์ขึ้นดอยสุเทพเป็นคันแรก

ครั้นได้เวลา รถยนต์ของเจ้าแก้วนวรัฐก็แล่นมาถึงปะรำพิธีที่เชิงดอยสุเทพ ทรงจุดธูปเทียน บูชาพระรัตนตรัย และก็ประทับรถยนต์เรื่อยขึ้นไปตามถนนที่เพิ่งสร้างเสร็จ จนกระทั่งถึงเชิงบันไดนาควัดพระบรมธาตุวัดดอยสุเทพ ใช้เวลาประมาณ ชั่วโมงเศษตามสภาพถนนที่เป็นเพียงดินในครั้งนั้น



เจ้าแก้วนวรัฐเสด็จขึ้นไปทรงนมัสการพระบรมธาตุดอยสุเทพ แล้วประทับรถยนต์เสด็จสู่นครเชียงใหม่ ดอยสุเทพก็มีถนนสำหรับรถยนต์ขึ้นไป นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ถนนสายนั้นเมื่อสร้างเสร็จใหม่ ๆ มีชื่อว่า ถนนดอยสุเทพ ครั้นต่อมาก็ได้เปลี่ยนเป็นถนนศรีวิชัย เพื่อเป็นเกียรติแก่ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งลานนาไทยซึ่งเป็นประธานในการสร้างถนนสายนี้....
น้ำฝน ทะกลกิจ
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 1111
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 30 ก.ย. 2018 1:00 pm

Re: ครูบา พระอริยสงฆ์ ที่เกี่ยวข้องกับดินแดนล้านา

โพสต์โดย น้ำฝน ทะกลกิจ » อาทิตย์ 08 ก.ย. 2019 3:07 pm

ครูบาศรีวิชัยได้ชื่อว่าเป็นผู้ถือปฏิบัติเคร่งมาตั้งแต่เป็นสามเณร ดังเห็นว่าท่านเป็นผู้ที่มักน้อย ถือสันโดษ และเว้นอาหารที่มีเนื้อสัตว์เจือปน ตลอดจนงดกระทั่งหมาก เมี่ยง และบุหรี่ ทำให้คนทั่วไปเห็นว่าครูบาเป็นผู้บริสุทธิ์ที่มีลักษณะเป็น "ตนบุญ" คนทั้งปวงต่างก็ประสงค์จะทำบุญกับครูบาเพราะเชื่อว่าการถวายทานกับภิกษุผู้บริสุทธิ์เช่นนั้นจะทำให้ผู้ถวายทานได้รับอานิสงส์มาก เงินที่ประชาชนนำมาทำบุญก็นำไปใช้ในการก่อสร้างสาธารณประโยชน์และบูรณะศาสนสถานและศาสนวัตถุ

krubasrivichai(2).jpg
krubasrivichai(2).jpg (103.39 KiB) เปิดดู 6052 ครั้ง


งานก่อสร้างดังกล่าวเริ่มขึ้นเมื่อปี ฉลู พ.ศ.๒๔๔๒ เดือน ๓ แรม ๑ ค่ำ ครูบาได้แจ้งข่าวสารไปยังศรัทธาทั้งหลายรวมทั้งชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ว่าจะสร้างวัดบ้านปางขึ้นใหม่ ซึ่งก็สร้างเสร็จภายในเวลาไม่นานนัก ให้ชื่อวัดใหม่นั้นว่า "วัดศรีดอยไชยทรายมูล" ซึ่งคนทั่วไปนิยมเรียกว่า "วัดบ้านปาง"

ขั้นตอนปฏิบัติในการไปบูรณปฏิสังขรณ์วัดมีว่า เมื่อครูบาได้รับนิมนต์ให้ไปบูรณปฏิสังขรณ์วัดใดแล้ว ทางวัดเจ้าภาพก็จะสร้างที่พักของครูบากับศิษย์ และปลูกปะรำสำหรับเป็นที่พักของผู้ที่มาทำบุญกับครูบา คืนแรกที่ครูบาไปถึงก็จะอธิษฐานจิตดูว่าการก่อสร้างครั้งนั้นจะสำเร็จหรือไม่ ซึ่งมีน้อยครั้งที่จะไม่สำเร็จ เช่นการสร้างสะพานศรีวิชัย ซึ่งเชื่อมระหว่าง อำเภอหางดง เชียงใหม่ กับอำเภอเมือง ลำพูน จากนั้นครูบาก็จะ "นั่งหนัก" คือเป็นประธานอยู่ประจำในงานนั้น คอยให้พรแก่ศรัทธาที่มาทำบุญโดยไม่สนใจเรื่องเงิน แต่มีคณะกรรมการช่วยกันรวบรวมเงินไปเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ครูบาไป "นั่งหนัก" ที่ไหน ประชาชนจะหลั่งไหลกันไปทำบุญที่นั่นถึงวันละ ๒๐๐-๓๐๐ ราย คับคั่งจนที่นั้นกลายเป็นตลาดเป็นชุมชนขึ้น เมื่อก่อสร้างเสร็จแล้วก็จะมีงาน "พอยหลวง-ปอยหลวง" คืองานฉลอง บางแห่งมีงานฉลองถึงสิบห้าวัน และในช่วงเวลาดังกล่าวก็มักจะมีคนมาทำบุญกับครูบามากกว่าปกติ

เมื่อเสร็จงาน "พอยหลวง-ปอยหลวง" ในที่หนึ่งแล้ว ครูบาและศิษย์ก็จะย้ายไปก่อสร้างที่อื่นตามที่มีผู้มานิมนต์ไว้ โดยที่ท่านจะไม่นำทรัพย์สินอื่นใดจากแหล่งก่อนไปด้วยเลย ช่วงที่ครูบาศรีวิชัยต้องอธิกรณ์ครั้งที่สองและถูกควบคุมไว้ที่วัดศรีดอนชัย เชียงใหม่ เป็นเวลา ๓ เดือนกับ ๘ วันนั้น ผู้คนหลั่งไหลไปทำบุญกับครูบาไม่ต่ำกว่าวันละ ๒๐๐ ราย เมื่อครูบาได้ผ่านการพิจารณาอธิกรณ์ที่กรุงเทพฯ ซึ่งใช้เวลาอีก ๒ เดือนกับ ๔ วันแล้วครูบาก็เดินทางกลับลำพูนเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ หลังจากนั้นผู้คนก็มีความศรัทธาในตัวครูบามากขึ้น

ครูบาศรีวิชัยเริ่มต้นการบูรณะวัดขณะที่ท่านอายุ ๔๒ ปี โดยเริ่มจากการบูรณะพระเจดีย์ม่อนไก้แจ้ จังหวัดลำปาง ถัดจากนั้นได้บูรณะเจดีย์และวิหารวัดพระธาตุหริภุญชัย ต่อมาได้ไปบูรณะเจดีย์ดอยเกิ้ง ในเขตอำเภอฮอด เชียงใหม่ จากนั้นไปบูรณะวัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา กล่าวกันมาว่าในวันที่ท่านถึงพะเยานั้น มีประชาชนนำเงินมาบริจาคร่วมทำบุญใส่ปีบได้ถึง ๒ ปีบ หลังจากนั้นมาบูรณะวัดพระสิงห์ เชียงใหม่ เป็นอาทิ รวมแล้วพบว่างานบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามของครูบาศรีวิชัยมีประมาณ ๒๐๐ แห่ง


ในขณะที่ครูบาศรีวิชัยกำลังบูรณะวัดสวนดอกเชียงใหม่ใน พ.ศ.๒๔๗๕ อยู่นั้น หลวงศรีประกาศได้หารือกับครูบาศรีวิชัยว่าอยากจะนำไฟฟ้าขึ้นไปใช้บนดอยสุเทพ แต่ครูบาศรีวิชัยว่าหากทำถนนขึ้นไปจะง่ายกว่าและจะได้ไฟฟ้าในภายหลัง ทั้งนี้ทางการเคยคำนวณไว้ในช่วง พ.ศ.๒๔๖๐ ว่าหากสร้างทางขึ้นดอยสุเทพนั้นจะต้องใช้งบประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ บาท แต่ครูบาศรีวิชัยได้เริ่มสร้างทางเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๗ และเปิดให้รถยนต์แล่นได้ในวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๘ โดยไม่ต้องใช้งบประมาณเลย (ตามรายละเอียดที่กล่าวไว้แล้วในตอนต้น) ครั้นเสร็จงานสร้างถนนแล้ว ครูบาศรีวิชัยก็ถูกนำตัวไปสอบอธิกรณ์ที่กรุงเทพฯ อีกเป็นครั้งที่สอง และงานชิ้นสุดท้ายของท่านที่ไม่เสร็จในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ก็คือสะพานศรีวิชัยอนุสรณ์ ทอดข้ามน้ำแม่ปิงเชื่อมอำเภอหางดง เชียงใหม่ กับอำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

ในการก่อสร้างต่าง ๆ นับแต่ พ.ศ.๒๔๖๓ ถึง ๒๔๗๑ มีผู้ได้บริจาคเงินทำบุญกับท่าน ประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ รูปี คิดเป็นเงินไม่น้อยกว่าสามหมื่นห้าพันบาท รวมค่าก่อสร้างชั่วชีวิตของท่านประมาณสองล้านบาท นอกจากนั้นท่านยังได้สร้างคัมภีร์ต่าง ๆ อีกไม่น้อยกว่า ๓,๐๐๐ ผูก คิดค่าจารเป็นเงิน ๔,๓๒๑ รูปี (รูปีละ ๘๐ สตางค์) ทั้งนี้ แม้ครูบาศรีวิชัยจะมีงานก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่และมากมาย แต่บิดามารดาคือนายควายและนางอุสาก็ยังคงอยู่ในกระท่อมอย่างเดิมสืบมาตราบจนสิ้นอายุ
น้ำฝน ทะกลกิจ
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 1111
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 30 ก.ย. 2018 1:00 pm

Re: ครูบา พระอริยสงฆ์ ที่เกี่ยวข้องกับดินแดนล้านา

โพสต์โดย น้ำฝน ทะกลกิจ » อาทิตย์ 08 ก.ย. 2019 3:10 pm

ในยุคที่ครูบาศรีวิชัยยังไม่ถึงแก่มรณภาพนั้น ผู้ที่ทำบุญกับครูบาศรีวิชัยจะได้รับความอิ่มใจที่ได้ทำบุญกับท่านเท่านั้น ส่วนการสร้างวัตถุมงคลนั้น ระยะแรก พวกลูกศิษย์ที่นับถือครูบาศรีวิชัยได้จัดทำพระเครื่องคล้ายพระรอดหรือพระคงของลำพูน โดยเมื่อครูบาปลงผมในวันโกน ก็จะเก็บเอาเส้นผมนั้นมาผสมกับมุกมีส่วนผสมกับน้ำรักกดลงในแบบพิมพ์ดินเผา แล้วแจกกันไปโดยไม่ต้องเช่าในระหว่างศิษย์ กล่าวกันว่าเพื่อป้องกันภยันตรายต่าง ๆ ซึ่งก็ลือกันว่ามีอิทธิฤทธิ์เป็นที่น่าอัศจรรย์

โกศครูบาเจ้า.jpg
โกศครูบาเจ้า.jpg (80.78 KiB) เปิดดู 6052 ครั้ง


ส่วนเหรียญโลหะรูปครูบาศรีวิชัยนั้น พระครูวิมลญาณประยุต (สุดใจ วิกสิตฺโต) ชาวจังหวัดอ่างทองได้ร่วมกับคณะสงฆ์จังหวัดลำพูนสร้างขึ้นให้เช่าเพื่อนำเงินมาช่วยในการปลงศพครูบาศรีวิชัย โดยให้เช่าในราคาเหรียญละ ๕ สตางค์ ทั้งนี้ สิงฆะ วรรณสัย ยืนยันจากประสบการณ์ที่ท่านรู้จักครูบาดีและได้คลุกคลีกับเรื่องพระเครื่องมาตั้งแต่ครูบายังไม่มรณภาพนั้นระบุว่าไม่มีเหรียญรุ่นดอยสุเทพ ไม่มีเหรียญที่ครูบาศรีวิชัยสร้าง หรือวัตถุมงคลอื่นใดที่ครูบาจะสร้างขึ้น นอกจากการให้พรและความอิ่มใจในการทำบุญกับท่านเท่านั้น แต่ในระยะหลังก็พบว่ามีการสร้างวัตถุมงคลของครูบาอยู่เป็นจำนวนมาก ในรูปแบบต่างๆ โดยผู้ที่ครอบครองวัตถุมงคลเหล่านั้นมีความศรัทธาในความดีของ "ตนบุญ" เป็นสำคัญ


หลังจากการทำบุญฉลองวัดพระสิงห์แล้ว ท่านพระครูบาเจ้าศรีวิชัย สิริวิชโย ท่านก็ยังมองเห็นความสำคัญของพระไตรปิฎกฉบับลานนาไทยอันเป็นพระธรรม คำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่บรรดาฑิตเมธีท่านได้สังคายนา จารลงในใบลานในครั้งอดีต ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ตามวัดต่างๆ ในภาคเหนือ ท่านเกรงว่าพระธรรมคำสอนต่างๆ จะถูกทำลายไปตามกาลเวลา ดังนั้นนับตั้งแต่ ปีพุทธศักราช ๒๔๖๙-๒๔๗๑ ท่านพระครูบาศรีวิชัย พร้อมด้วยบรรดาสานุศิษย์ได้รวบรวมพระไตรปิฎกที่ถูกทอดทิ้งอยู่ตามวัดต่างๆ จากตำบล อำเภอ และจังหวัดอื่นๆ แล้วรวมกันจัดให้เป็นหมวดหมู่เป็นธัมมขันธ์ ทำการสังคายนาจารลงใบลานขึ้นมาใหม่ เพื่อไว้เป็นหลักฐานการศึกษา ค้นคว้าหาแนวทางประพฤติพระธรรมวินัย สืบอายุบวรพระพุทธศาสนาต่อไป ตามจำนวนดังนี้

๑. พระวินัยทั้ง ๕ จำนวน ๑๐ มัด รวม ๑๗๐ ผูก

๒. นิกาย ๕ จำนวน ๕ มัด รวม ๖๙ ผูก

๓. อภิธรรม ๗ คัมภีร์ จำนวน ๗ มัด รวม ๑๔๕ ผูก

๔. ธรรมบท จำนวน ๒๑ มัด รวม ๑๔๕ ผูก

๕. สุตตสังคหะ จำนวน ๗ มัด รวม ๗๖ ผูก

๖. สมันตปาสาทิกา จำนวน ๔ มัด รวม ๔๕ผูก

๗. วิสุทธิมรรค ๓ มัด รวม ๗๖ ผูก

๘. ธรรมสวนะชาดก จำนวน ๑๒๖ มัด รวม ๑,๒๓๒ ผูก

๙. ธรรมโตนาที่คัดไว้เป็นกัปป์และผูก รวม ๑๔๒ ผูก

๑๐. สัททาทั้ง ๕ จำนวน ๘ มัด รวม ๓๘ ผูก

๑๑. กัมมวาจา จำนวน ๖ มัด รวม ๑๐๔ ผูก

๑๒. กัมมวาจา จำนวน ๑ มัด รวม ๑๐๘ ผูก

๑๓. มหาวรรค จำนวน ๑๓๕ มัด รวม ๒,๗๒๖ ผูก

๑๔. ธรรมตำนานและชาดก จำนวน ๑ มัด รวม ๑๗๒ ผูก

๑๕. ธรรมบารมี จำนวน ๑๐ มัด รวม ๑๒๒ ผูก

รวมทั้งหมดมี ๓๔๔ มัด รวมผูกทั้งหมดมี ๕,๔๐๘ ผูก

รวมค่าใช้จ่ายการสร้างพระไตรปิฎก ค่าจ้างเขียนลงใบลาน ค่าทองคำเปลวติดขอบใบลานและค่าใช้จ่ายตอนทำพิธีถวายพระไตรปิฎก รวมทั้งหมด ๔,๒๓๒ รูปี

ผลงานจัดทำสังคายนาพระไตรปิฎกฉบับลานนาไทยของท่านพระครูบาศรีวิชัยในครั้งนี้ นับว่าเป็นหลักฐานประกาศถึงความเป็นผู้ทรงความรู้ทางด้านพระไตรปิฎก ทั้งสามารถรวบรวมจัดเป็นหมวดหมู่ขึ้นใหม่ได้นี้ มิใช่เป็นเรื่องธรรมดา นี่แสดงว่าท่านคือบัณฑิตผู้ทรงความรู้ท่านหนึ่ง อีกทั้งท่านยังมีปฏิปทาในข้อวัตรปฏิบัติ เป็นสงฆ์องค์อริยะอันเป็นแบบอย่างที่ดียิ่ง

บางคนไม่รู้ซึ้งหรือรู้เพียงผิวเผิน ก็เข้าใจว่าท่านพระครูบาเจ้า ท่านไม่ค่อยรู้หลักธรรมวินัย เป็นพระบ้านนอกบ้านป่า แต่หากลองนึกพิจารณาด้วยจิตอันสุขุม จะเห็นได้ว่า ท่านพระครูบาเจ้าเป็นคนซื่อสัตย์มีแต่ความบริสุทธิ์ ท่านไม่ยอมค้อมหัวให้กิเลส ใครจะบังคับหรือขู่เข็นอย่างไร ในการที่จะรับเอาสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมวินัย อย่าพึงหวัง...



เครื่องประดับขัตติยะนารีทั้งหลาย มีแก้วแหวนเงินทอง เป็นตัณหากามคุณ เหมือนดั่งน้ำผึ้งแช่ยาพิษ สำหรับนำความทุกข์มาใส่ตัวโดยบ่มีประโยชน์สิ่งใดเลย แม่น้ำคงคา ยมุนา อิรวดี มหิ มหาสรพู ซึ่งเป็นแม่น้ำใหญ่ทั้ง ๕ แม่น้ำนี้ แม้นจักเอามาอาบให้หมดทั้ง ๕ แม่นี้ ก็บ่ อาจจะล้างบาป คือความเดือดร้อนภายในให้หายได้ ลมฝนลูกเห็บ แม้นจะตกลงมาหลายห่า เย็นและหนาวสักปานใด ก็บ่อาจเย็นเข้าไปถึงภายในให้หายจากความทุกขเวทนาได้ ศีล ๕ เป็นอริยทรัพย์ เป็นต้นเหตุแห่งความบริสุทธิ์ เป็นน้ำทิพย์สำหรับล้างบาป คือความเดือดร้อนภายในให้หายได้ เมื่อศีลบริสุทธิ์แล้ว สมาธิ ความตั้งมั่นก็จะมีมา แล้วให้ปลุกปัญญา ปัญญาก็จักเกิดมีขึ้นได้ คือ ให้หมั่นรำลึกถึงตัวตนอยู่เสมอ ว่า บ่ใช่ตัว บ่ใช่ตน จนเห็นแจ้งด้วย ปัญญาของตน จึงเป็นสมุทเฉทประหานกิเลส หมดแล้ว จิตเป็นวิมุติ หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งมวลได้



ครูบาศรีวิชัยซึ่งเป็นคนร่างเล็กผอมบางผิวขาว ไม่ใช่คนแข็งแรง แม้ท่านจะไม่ต้องทำงานประเภทใช้แรงงาน แต่การที่ต้องนั่งคอยต้อนรับและให้พรแก่ผู้มาทำบุญกับท่านนั้น ท่านจะต้อง "นั่งหนัก" อยู่ตลอดทั้งวัน ด้วยเหตุนี้ท่านจึงอาพาธด้วยโรคริดสีดวงทวารซึ่งสะสมมาแต่ครั้งการตระเวนก่อสร้างบูรณะวัดในเขตล้านนา และการอาพาธได้กำเริบขณะที่สร้างสะพานข้ามแม่น้ำปิง

ครูบาศรีวิชัยถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ที่วัดบ้านปาง ขณะมีอายุได้ ๖๐ ปี ๙ เดือน ๑๑ วัน และตั้งศพไว้ที่วัดบ้านปางเป็นเวลา ๑ ปี บางท่านก็ว่า ๓ ปี จากนั้นได้เคลื่อนศพมาตั้งไว้ที่วัดจามเทวี ลำพูน จนถึงวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ จึงได้รับพระราชทานเพลิงศพ เมื่องานพระราชทานเพลิงศพเสร็จสิ้น จึงได้มีการแบ่งอัฐิของท่านไปบรรจุไว้ตามที่ต่าง ๆ เช่น ที่วัดจามเทวีจังหวัดลำพูน วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ วัดพระแก้วดอนเต้า จังหวัดลำปาง วัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา วัดพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ และที่วัดบ้านปาง จังหวัดลำพูนอันเป็นวัดดั้งเดิมของท่าน เป็นต้น



ข้อมูล อ้างอิง...

หนังสือ ประวัติของพระครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งลานนาไทย ที่ระลึกในงานฉลองพิพิธภัณฑ์พระครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดบ้านปาง ต.ศรีวิชัย อ.ลี้ จ.ลำพูน วันที่ ๒๑ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๓๗

นิตยสาร อภินิหารและพระเครื่อง ฉบับที่ ๔๘ ประจำเดือนกรกฎาคม

นิตยสารโลกทิพย์ ธรรมสมาธิ ฉบับที่ ๑๐ ปีที่ ๒ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๒๖

ประวัติครูบาศรีวิชัยร่วมกับหลวงศรีประกาศ ตอนสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ ของ ส.สุภาภา ๑๐ พ.ศ. ๒๕๑๘

สารประวัติครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งลานนาไทย ของสิงฆะ วรรณสัย ศูนย์หนังสือเชียงใหม่ พฤศจิกายน ๒๕๒๒

ตำนานครูบาศรีวิชัยแบบพิสดาร และตำนานวัดสวนดอก สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ๒๕๓๗

บทความ “ศูนย์รวมการถ่ายทอดจิตวิญญาณล้านนา” ในหนังสือ สืบสานล้านนา สืบต่อลมหายใจของแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๔๒ วิลักษณ์ ศรีป่าซาง สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตภาคพายัพ)
น้ำฝน ทะกลกิจ
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 1111
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 30 ก.ย. 2018 1:00 pm

Re: ครูบา พระอริยสงฆ์ ที่เกี่ยวข้องกับดินแดนล้านนา

โพสต์โดย น้ำฝน ทะกลกิจ » อาทิตย์ 08 ก.ย. 2019 3:35 pm

"ครูบาอภิชัยขาวปี" ศิษย์เอก "ครูบาศรีวิชัย" ครูบาต้องมลทิน ที่ "จอมพลสฤษดิ์" นับถือเป็นที่สุด

IMG_0211_.JPG
IMG_0211_.JPG (144.02 KiB) เปิดดู 6052 ครั้ง



ครูบาอภิชัยขาวปี เป็นบุตรของนายเม่า และนางจันตา หล้าแก้ว เป็นชาวบ้านเชื้อสายลัวะ ชาวแม่เทย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ถือกำเนิดเมื่อวันจันทร์ เดือน ๗ เหนือ ปีกัดเป้า (ปีฉลู) ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๗ เดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๓๑ อันเป็นวันมหาสงกรานต์ หรือวันปากปี เพื่อให้เป็นมงคลตามวันจึงมีชื่อว่า "จำปี" หรือ "จุมปี" เมื่ออายุได้ ๑๖ ปี มารดานำไปฝากบวชเป็นสามเณรกับครูบาเจ้าศรีวิชัย ณ วัดบ้านปาง เมื่ออายุครบ ๒๒ ปี ท่านบวชเป็นพระภิกษุ มีฉายาว่า พระอภิชัย

เมื่ออุปสมบทได้ ๒ พรรษา จึงกราบลาอาจารย์ เพื่อมุ่งมั่นงานก่อสร้างปฏิสังขรณ์วัดร้างต่างๆ ตามแนวทางที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยวางไว้ ถือเป็นช่วงต้นของชีวิตพระภิกษุ ระหว่างอายุ ๒๔ ปีจนถึงอายุ ๓๕ ปี ที่อุทิศทุ่มเทให้แก่งานการก่อสร้างพระอารามอย่างเต็มที่ นอกจากแถบอำเภอลี้ แม่ทา บ้านโฮ่ง ทุ่งหัวช้างในลำพูนแล้ว ยังได้เดินทางไปก่อสร้างศาสนสถานทั่วล้านนาทั้งในลำปาง พะเยา เชียงใหม่ ตาก สุโขทัย และข้ามเขตแดนพม่าแถบลุ่มน้ำสาละวินอีกด้วย

ครูบาอภิชัยขาวปี.jpg
ครูบาอภิชัยขาวปี.jpg (210.71 KiB) เปิดดู 6052 ครั้ง


ท่านอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ ๓ ครั้ง ครองผ้าขาวอย่างชีปะขาว ๓ ครั้ง ดังนี้คือ อุปสมบทเป็นพระสงฆ์ครั้งแรกโดยครูบาศรีวิชัยเมื่ออายุได้ ๒๒ ปี ที่วัดบ้านปาง ได้สมญานามว่า อภิชัยภิกขุ ช่วยครูบาศรีวิชัยสร้างกุฎีที่วัดบ้านปาง จนอายุได้ ๓๕ ปี ถูกจับสึกจากผ้าเหลืองไปห่มผ้าขาว ด้วยความผิดตามพ.ร.บ.ลักษณะเกณฑ์ทหาร รศ.๑๒๔ (๒๔๔๘) บังคับใช้ และต้องติดคุก ๖ เดือน ที่คุกจังหวัดลำพูน ในขณะที่ท่านถูกจองจำอยู่ในคุก ซึ่งเป็นที่ตั้งเก่าของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย (ก่อนหน้านั้นเดิมเคยเป็นวัดแสนข้าวห่อ) ครูบาขาวปีได้เห็นโรงพยาบาลจังหวัดลำพูนในสมัยนั้นชำรุดทรุดโทรม ท่านจึงได้ริเริ่มสร้างโรงพยาบาลลำพูน โดยประชาชนที่เลื่อมใสในตัวท่านทราบข่าวว่าท่านมาเป็นประธานในการก่อสร้างโรงพยาบาล ก็พากันมาช่วยร่วมบุญอย่างคับคั่ง จนสร้างโรงพยาบาลแล้วเสร็จ เมื่อเดือน ๙ เหนือ แรม ๒ ค่ำ เป็นวันที่ท่านพ้นโทษตามคำพิพากษาครบ ๖ เดือนพอดี


เมื่อพ้นโทษออกจากคุกแล้ว ท่านได้เดินทางไปกราบครูบาศรีวิชัยที่วัดพระสิงห์ ที่นี่ท่านได้รับการอุปสมบทเป็นครั้งที่ ๒ โดยเจ้าอาวาสวัดพระสิงห์เป็นอุปัชฌาย์ ท่านอยู่จำพรรษากับครูบาเจ้าศรีวิชัยได้ ๑ พรรษา ก็ลาอาจารย์จาริกไปสร้างวัดและโรงเรียนอีกหลายแห่ง ในปี พ.ศ.๒๔๖๕ ขุนระมาดไมตรี กำนันคนแรกแห่งอำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ปรารถนาจะได้พุทธรูปหินอ่อน หน้าตักว้าง ๑.๓๐ เมตร สูง ๑.๖ เมตร มูลค่า ๘๐๐ บาท จึงได้นิมนต์ครูบาอภิชัยไปเป็นประธานสร้างฝ่ายสงฆ์ แต่ปรากฎว่าเงินไม่พอถึง ๗๐๐ บาท ท่านจึงบอกบุญไปตามศรัทธา แต่มีการร้องเรียนว่าท่านเรี่ยไรเงินอันเป็นการผิดระเบียบสงฆ์ เจ้าคณะจังหวัดจึงจับท่านสึกเป็นครั้งที่ ๒ ท่านกลับมานุ่งห่มสีขาวอีกครั้ง


ต่อมาไม่นาน ขณะนั้นครูบาศรีวิชัยกำลังสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ครูบาขาวปีจึงพากะเหรี่ยง ๕๐๐ คน ขึ้นไปช่วยทำถนนขึ้นดอยสุเทพร่วมกับอาจารย์จนแล้วเสร็จ จึงกลับลงมาพักกับอาจารย์ที่วัดพระสิงห์ ที่วัดพระสิงห์นี้ ท่านครูบาศรีวิชัยก็อุปสมบทให้ท่านเป็นภิกษุอีกเป็นครั้งที่ ๓ การอุปสมบทครั้งนี้ ถูกดึงไปเป็นเหตุผลหนึ่งให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยต้องอธิกรณ์อีกครั้ง ด้วยข้อหาว่าทำการอุปสมบทให้แก่ "ผ้าขาวปี๋ หรือหนานปี๋ ซึ่งคณะสงฆ์ประกาศห้ามมิให้อุปสมบท เมื่อครูบาเจ้าศรีวิชัยเดินทางไปต่อสู้คดีที่กรุงเทพฯ ครูบาอภิชัยขาวปีอยู่รักษาวัดพระสิงห์แต่เพียงผู้เดียว มหาสุดใจ วัดเกตุการาม กับพระครูวัดพันอ้นรูปหนึ่ง ถือโอกาสมาข่มขู่ให้ครูบาอภิชัยขาวปีสึกเสีย เพราะมิฉะนั้นทางการจะเอาเรื่องครูบาเจ้าศรีวิชัยให้ติดคุกจนถึงที่สุด ด้วยจิตใจที่เป็นห่วงในตัวอาจารย์ ท่านจึงเสียสละผ้ากาสาวพัสตร์ ยอมสึกเป็นชีปะขาวและนับเป็นครั้งสุดท้ายแห่งการครองผ้าไตรจีวรของท่านตราบจนละสังขาร


แม้แต่ ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้มีอำนาจล้นเหลือในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๒-๒๕๐๖ ได้รับทราบผลงานของท่านครูบาขาวปี ยังใคร่ปรารถนามานมัสการกราบคารวะท่าน ผู้มีใจมุ่งพัฒนา ยอมอุทิศชีวิตเพื่อพระบวรพุทธศาสนาและสังคมโดยส่วนรวม ไม่ปรารถนาผลตอบแทนแต่ประการใด


แม้ว่าท่านครูบามิได้มีสมณศักดิ์หรือสถานภาพที่สูงส่งในสังคมก็ตาม แต่ท่านจอมพลสฤษดิ์ ก็ได้ปวารณาตัวจะช่วยอุปถัมภ์ในการก่อสร้างโรงเรียนในชนบทที่ห่างไกลให้ครบ ๑๐๐ หลัง ก่อนที่ ฯพณฯ จะถึงแก่อสัญกรรม ไม่นาน


ครูบาอภิชัยขาวปี มรณภาพ เมื่อวันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๖ เหนือ ตรงกับวันพฤหัสที่ ๓ มีนาคม ๒๕๒๐ เวลา ๑๖.๐๐ น สิริรวมอายุได้ ๘๙ ปี ทุกวันนี้ได้เก็บพระสรีระร่างอันไม่เปื่อยไม่เน่าของท่านไว้ ณ โลงศพแก้ว ในหอปราสาทรักษาศพ จัดสร้างให้โดยครูบาวงค์ (ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา) เพื่อเก็บพระสรีระร่างของครูบาอภิชัยขาวปี ที่วัดพระพุทธบาทผาหนาม ต.ป่าไผ่ อ.ลี้ จ.ลำพูน และมีประเพณีเปลี่ยนผ้าห่อสรีระเป็นประจำทุกปีในวันที่ ๓ มีนาคม

4(1769)(1).jpg
4(1769)(1).jpg (120.37 KiB) เปิดดู 6052 ครั้ง


อ้างอิงข้อมูลจาก - http://www.dharma-gateway.com , th.wikipedia.org
น้ำฝน ทะกลกิจ
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 1111
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 30 ก.ย. 2018 1:00 pm

ย้อนกลับ

ย้อนกลับไปยัง ร้อยเรื่องเมืองล้านนา

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 55 ท่าน

cron