การใช้ภาษาไทย..ยังไงกันแน่

เสวนาภาษาไทย

การใช้ภาษาไทย..ยังไงกันแน่

โพสต์โดย Namfar » อาทิตย์ 10 ม.ค. 2016 9:22 am

เหมยขาบ-แม่คะนิ้ง
39162_resize.jpg
39162_resize.jpg (43.46 KiB) เปิดดู 18770 ครั้ง


เหมยขาบ-แม่คะนิ้ง
สองคำนี้ แปลว่า น้ำค้างแข็งเหมือนกัน ที่ต้องใช้ให้แตกต่างกันเพราะ คำว่าแม่คะนิ้งเป็นภาษาอีสาน ดังนั้นถ้าเกิดน้ำค้างแข็งที่ภูกระดึงใช้แม่คะนิ้งได้ ส่วนดอยอินทนนท์ต้องใช้คำว่า "เหมยขาบ" เหมยขาบ เป็นภาษาเหนือ เหมย แปลว่า น้ำค้าง คนเหนือมักจะเรียกว่าน้ำเหมย ส่วนคำว่า ขาบ นี่จะประมาณว่าสงบ นิ่ง เรามักจะใช้กับคำว่า "ขาบหลับ" หมายถึงพยายามนอนหลับ มีอีกคำคือเป็นส่วนขยายคำกริยา ได้แก่ แข็งตาบขาบ การใช้คำว่าขาบกับน้ำค้างคงจะมาจากนัยยะอันใดอันหนึ่ง ซึ่งคนทางภาคเหนือใช้กันมานานแล้ว

ทวนนะ "แม่คะนิ้ง" ภาษาอีสาน ใช้กับน้ำค้างแข็งภาคอีสาน ถ้าเป็นทางภาคเหนือใช้ "เหมยขาบ" ซึ่งแปลว่าน้ำค้างแข็งเหมือนกัน การใช้ให้ถูกถือเป็นการให้เกียรติท้องถิ่นนั้นๆด้วยค่ะ

946790_955578611191999_4410918291342141053_n.jpg
946790_955578611191999_4410918291342141053_n.jpg (68.22 KiB) เปิดดู 24250 ครั้ง



ภาพ : Oussanee Poolcharoen
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: การใช้ภาษาไทย..ยังไงกันแน่

โพสต์โดย ภาษาสยาม » อาทิตย์ 10 ม.ค. 2016 10:00 am

ออฟฟิศ หรือ ออฟฟิซ



....เนื่องจากมีการพูดถึงกันในวงกว้างว่า ราชบัณฑิตยสถาน ยกเลิกคำว่า ออฟฟิศ

และเปลี่ยนมาเป็น ออฟฟิซ แทน ภาษาสยามจึงสอบถามไปยัง ราชบัณฑิตฯ

เพื่อให้ได้ความชัดเจน และได้รับคำตอบว่า


" การยกเลิกคำว่า ออฟฟิศ นั้น เพราะทางราชบัณฑิตฯต้องการให้ใช้คำว่า

คำว่าสำนักงานแทนแต่ในกรณีที่ท่านต้องการใช้คำทับศัพท์

ก็ควรใช้คำเดิม คือ ออฟฟิศ ไม่มี คำว่า ออฟฟิซ แต่อย่างใด

เพราะแม้จะยกเลิก คำว่าออฟฟิศ แต่ตราบที่ไม่มีพจนานุกรมเล่มใหม่

ระบุให้เป็นอื่น ก็ต้องใช้ตามเดิม ( เล่มใหม่จะออกปี ๒๕๕๔ และอาจจะ

ตัดคำว่า ออฟฟิศ ออก และบัญญัติคำว่า สำนักงาน , ที่ทำการ แทน )

และที่บางท่านเข้าใจว่าใช้ ออฟฟิซ เพราะตามรากศัพท์ภาษาอังกฤษที่ถูกต้อง

office ออกเสียง ซ แต่เรากลับใช้ ออฟฟิศมาเกือบศตวรรษแล้ว ก็ต้องใช้ต่อไป

จนกว่าจะมีพจนานุกรมเล่มใหม่บัญญัติให้เป็นอื่น
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1145
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

Re: การใช้ภาษาไทย..ยังไงกันแน่

โพสต์โดย น้ำฟ้า » พฤหัสฯ. 27 ต.ค. 2016 7:00 pm

ราชบัณฑิตยสภาแก้ไขคำอ่านพระนามพระบาทสมเด็จพระปรมินทร (ปอ-ระ-มิน-ทระ) มหาภูมิพล อดุลยเดช ระบุ สามารถอ่านได้ ๓ แบบ

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา เผยแพร่ข้อมูลการอ่านพระนามตามพระสุพรรณบัฏของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หลังยังคงมีผู้สงสัยถึงที่มาของการอ่านพระนามดังกล่าว

จากกรณีที่ศูนย์ข้อมูลข่าวสาร งานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กรมประชาสัมพันธ์ เผยแพร่การออกเสียงพระนามที่ถูกต้องของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จากศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในวันนี้ โดยให้อ่านว่า "พระ-บาด-สม-เด็ด-พระ-ปะ-ระ-มิน-ทะ-ระ-มะหา-ภู-มิ-พน-อะ-ดุน-ยะ-เดช"

คณะกรรมการจัดทำหลักเกณฑ์ การใช้ราชาศัพท์แห่งสำนักราชบัณฑิตยสภา ได้ประชุมกัน พบว่า การอ่านพระนามแตกต่างกัน ระหว่าง ปอ-ระ-มิน-ทระ ปะ-ระ-มิน-ทระ ปะ-ระ-มิน-ทะ-ระ มีความเห็นว่าการอ่านพระนามของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อ่านตามจังหวะหนักเบาในภาษาไทย ซึ่งใช้ในราชสำนักมาแต่โบราณคือ

พระ-บาด-สม-เด็ด-พระ-ปอ-ระ-มิน-มะ-หา-พู-มิ-พน-อะ-ดุน-ยะ-เดด มะ-หิด-ตะ-ลา-ทิ-เบด-รา-มา-ทิ-บอ-ดี จัก-กรี-นะ-รึ-บอ-ดิน สะ-หยา-มิน-ทรา-ทิ-ราด บอ-รม-มะ-นาด-บอ-พิด

หรือ พระ-บาด-สม-เด็ด-พระ-ปะ-ระ-มิน-มะ-หา-พู-มิ-พน-อะ-ดุน-ยะ-เดด มะ-หิด-ตะ-ลา-ทิ-เบด-รา-มา-ทิ-บอ-ดี จัก-กรี-นะ-รึ-บอ-ดิน สะ-หยา-มิน-ทรา-ทิ-ราด บอ-รม-มะ-นาด-บอ-พิด

หรือจะอ่านพระนาม ว่า พระ-บาด-สม-เด็ด-พระ-ปะ-ระ-มิน-ทระ-มะ-หา-พู-มิ-พน-อะ-ดุน-ยะ-เดด ตามการอ่านคำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤตแบบมีสมาสคำก็ได้
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: การใช้ภาษาไทย..ยังไงกันแน่

โพสต์โดย น้ำฟ้า » เสาร์ 04 มี.ค. 2017 10:56 am

ข้อบกพร่องในการใช้ภาษามีประเด็นใหญ่ ๆ ดังนี้

ก.การใช้ภาษาผิด

ข.การใช้ภาษาไม่เหมาะสม

ค.การใช้ภาษาไม่กระจ่าง

ง.การใช้ภาษาไม่สละสลวย

ก.การใช้ภาษาผิด

การใช้ภาษาผิด หมายถึง การใช้ภาษาผิดหลักไวยากรณ์หรือผิดความหมายที่ต้องการ เราจะพิจารณากันตั้งแต่ระดับคำ กลุ่มคำ จนถึงประโยคดังต่อไปนี้
๑.การใช้ภาษาผิดความหมาย

การใช้คำต้องระวังเรื่องคำที่มีความหมายแฝง,คำที่เสียงคล้ายคลึงกัน,คำที่มีความหมายคล้ายคลึงกัน และคำไวยากรณ์ เช่น ลักษณะนาม บุพบท สันธาน ตัวอย่างเช่น

- องค์ประกอบของรังแค คือกรรมพันธุ์ ความเครียด อากาศแห้ง การขาดสารอาหารบางชนิด

“องค์ประกอบ” หมายถึง ส่วนต่าง ๆ ที่ประกอบกันทำให้เป็นรูปขึ้นใหม่โดยเฉพาะประโยคต้องใช้คำว่า “ปัจจัย” หรือ “สาเหตุ” เพราะสิ่งที่ตามหลังคำกริยา “คือ” นั้น เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดรังแค มิใช่องค์ประกอบของรังแค

๒.การใช้กลุ่มคำและสำนวนผิด ตัวอย่างเช่น

- ผู้เขียนพยายามชี้ให้เห็นว่าทางไปสู่ความสำเร็จไม่ได้ปูลาดด้วยกุหลาบ

สำนวนคือ “ทางที่ปูลาดด้วยกลีบกุหลาบ” เป็นการใช้ภาษาในเชิงเปรียบเทียบ เปรียบทางที่ราบรื่นสะดวกสบายว่าเหมือนทางที่ปูหรือลาดด้วยกลีบกุหลาบ ความหมายเน้นที่กลีบกุหลาบ ไม่ใช่ดอกกุหลาบเป็นดอก ๆ

๓.การเรียงคำหรือกลุ่มคำผิดลำดับ

การเรียงคำผิดลำดับ คือ เรียงคำในลำดับที่ทำให้ความหมายไม่ตรงกับที่ต้องการหรือเรียงคำในลักษณะที่ไม่ใช้ภาษา

การเรียงกลุ่มคำผิดลำดับ มักจะเกิดจากการวางกลุ่มคำขยายไว้ห่าง จากคำที่ต้องการขยายมากเกินไป ตัวอย่างเช่น

-ฉันขยับขึ้นลุกนี้

ในประโยคนี้ "ขึ้น" เป็นส่วนของหน่วยกริยาที่ต้องวางไว้หลังคำกริยา "ลุก" ดังนี้ "ฉันขยับลุกขึ้นนั่ง"

๔.การใช้ประโยคไม่สมบูรณ์

หมายถึง รวมประโยคที่ขาดส่วนสำคัญของประโยค และประโยคที่มีส่วนเกินเข้ามาทำให้ซ้ำซ้อนหรือโครงสร้างของประโยคผิดไป ตัวอย่างเช่น

- ฉันรู้สึกเป็นสุขราวกับขึ้นสวรรค์ทั้งเป็น เมื่อเขาคนนั้นยื่นดอกกุหลาบสีแดงที่กำลังแย้มกลีบบานออกมารับแสงอาทิตย์ในยามเช้า พร้อมกับบอก
ว่า "สวัสดีปีใหม่"

ข้อความที่ขาดคำว่า "ให้" ซึ่งเป็นส่วของหน่วยกริยา "ยื่น.....ให้" ถ้าไม่มีคำว่า "ให้" ความหมายของประโยคจะต่างไป ในที่นี้เติมคำว่า "ให้" หลังจากคำว่า "ยามเช้า"

ข.การใช้ภาษาไม่เหมาะสม

๑.การใช้ภาษาพูดในภาษาเขียน ตัวอย่างเช่น

-บ้านของฉันดันมาตั้งอยู่ตรงหัวโค้งถนนพอดี (จำเพาะ)

๒.การใช้คำต่างประเทศในภาษาเขียน ตัวอย่างเช่น

-เขาเป็นคนตรงไปตรงมา ค่อนข้างแอนตี้สังคม (ต่อต้าน)

๓.การใช้คำไม่เหมาสมกับความรู้สึก ตัวอย่างเช่น

-คุณลุงเจ็บกระเสาะกระแสะมาปีกว่าแล้ว เมื่อสองสามวันก่อน ท่านต้องเข้าโรงพยาบาลอีก เราคาดหวังกันว่า เจ็บคราวนี้ท่านคงอยู่ได้ไม่นาน
ถ้าใครพูดเช่นนี้ก็หมายความว่ากำลังแช่งคุณลุงให้ตายเสียที ถ้าไม่ใช่ก็เปลี่ยนใช้คำอื่น เช่น คาดคะเน คาดว่า คาดคิด เป็นต้น

๕.การใช้คำไม่เหมาะสมกับเนื้อความ ตัวอย่างเช่น

-เพียงแต่เราจะสละเวลาเพียงเล็กน้อยเดินไปที่หน่วยเลือกตั้ง

ในที่นี้ใช้คำกริยา "เดิน" เจาะจงเกินไป โดยแท้จริงแล้ว การไปที่หน่วยเลือกตั้ง จะไปโดยวิธีใดก็ได้ ดังนั้นจึงควรตัดคำว่า "เดิน" ออกไป

๕.การใช้คำต่างระดับ ตัวอย่างเช่น

-ในเมืองนี้ยังมีสถานท่ให้เที่ยวชมหลายแห่งล้วนแต่น่าทัศนาและน่าศึกษา

ควรเลือกคำที่อยู่ในระดับเดียวกันมาใช้ คือ เปลี่ยนคำว่า "ทัศนา" เป็น "น่าดู"

๖.การใช้คำไม่เหมาะกับโวหาร ตัวอย่างเช่น

-เขาเดินผ่านเข้าไปในซุ้มไม้ที่เขียวชอุ่มเป็นพุ่มงาม บังแสงอาทิตย์เสียสิ้น

ซุ้มไม้ที่เป็นพุ่มคงไม่สูงเสียดยอดและแน่นขนัดถึงขนาดบังแสงอาทิตย์จนมองไม่เห็น

ค.การใช้ภาษาไม่กระจ่าง

๑.การใช้คำไม่ชัดเจน

ระวังการใช้คำที่มีความหมายไม่แน่นอน เช่นคำที่มีความหมายแสดงความรู้สึกต่าง ๆ หรือประเมินคำว่า ดี เลว เป็นต้น ตัวอย่างเช่น

-ตัวผู้ปกครองเองไม่เข้าใจในระบอบนี้ หรือเข้าใจ แต่หวงอำนาจ ประเทศของเราจึงมิได้ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร

แต่ละคนมีเกณฑ์การวัดความควรและไม่ควรแตกต่างกันไป จึงควรแก้ไขให้ชัดเจนว่า "มิได้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย"

ระวังการใช้คำที่มีความหมายกว้าง หรือการใช้คำที่ไม่ระบุความหมายให้ชัดเจน ลองเปรียบเทียบประโยคต่อไปนี้

-เขาถูกไล่ออกเพราะไม่ซื่อสัตย์

-เขาถูกไล่ออกเพราะยักยอกเงินของบริษัทไป 3 หมื่นบาท

ประโยคที่สองมีเนื้อความชัดเจนกว่าประโยคแรก

๒.การแสดงความคิดไม่สอดคล้องกัน ตัวอย่างเช่น

-ปัญหาดังกล่าว ผู้เขียนคิดว่าแก้ยาก แต่ถ้าจะแก้ก็ง่ายนิดเดียว

ในประโยคแรกกล่าวว่า ปัญหานั้นแก้ยาก แต่ประโยคหลังกลับบอกว่าแก้ง่าย จึงไม่รู้ว่าปัญหานั้นแก้ยากหรือแก้ง่าย ควรเปลี่ยนให้ชัดเจนว่า "ปัญหาดังกล่าวดูเหมือนจะแก้ยาก แต่ถ้าจะแก้ก็ง่ายนิดเดียว

ง.การใช้ภาษาไม่สละสลวย

๑.การใช้คำฟุ่มเฟือย

ประโยคต่อไปนี้มีคำหรือกลุ่มคำที่ให้ความหมายอย่างเดียวกันซ้ำซ้อนกันอยู่ วิธีแก้ไขคือตัดคำใดคำหนึ่งออก

-แม้ว่าจะไม่มีข้อมูลอ้างอิงต่าง ๆ ในรายงานชิ้นนี้อย่างแน่ชัด แต่ผู้จัดทำขอรับผิดชอบ ความผิดพลาด ความบกพร่อง ไม่สมบูรณ์ ในหลาย ๆ ด้านแต่เพียงผู้เดียว

ประโยคต่อไปนี้ใช้คำหรือกลุ่มคำที่บริบทบอกความหมายอยู่แล้ว และยังซ้อนคำหรือกลุ่มคำอื่น ๆ เข้ามาทำให้ประโยคเยิ่นเย้อ

-บ้านเรือนของผู้คนมีอยู่เป็นระยะ ๆ

บ้านเรือน หมายถึง ที่อยู่ของมนุษย์ ไม่จำเป็นต้องเพิ่เมส่วนขยายว่า "ของผู้คน" เข้ามาอีก

ประโยคต่อไปนี้ใช้คำหรือกลุ่มคำเกินความจำเป็น โดยเฉพาะสำนวน "ทำการ" "มีการ" "ในการ"

-ในศาลเจ้ามีกระถางธูป ที่จุดเทียนทำการสักการะพระพุทธรูป

๒.การใช้คำไม่คงที่ ตัวอย่างเช่น

-แผ่นดินไทยเป็นของคนไทยทุกคน ถ้าเราไม่ช่วยกันรักษาพสุธาดลนี้ไว้ เราก็ไม่มีธรณีจะอยู่อีกต่อไป

ไม่ควรใช้คำในภาษาร้อยกรองมาใช้ในภาษาบรรยาย ลักษณะเช่นนี้ ไม่ถือว่าเป็นการหลากคำให้ฟังไพเราะขึ้น หากทำให้ประโยคไม่สละสลวยฟังแปร่งหู

๓.การใช้ภาษาไม่เหมาะสม ตัวอย่างเช่น

-เรามักจะให้ความหมายแก่ภาษาอันรวมหมายถึงภาษาพูดและภาษาเขียนว่าเป็นสิ่งสื่อสารอย่างหนึ่ง

-แทนที่ประชาชนที่อ่าน จะได้ประโยชน์กลับถูกยื่นยาพิษให้โดยไม่รู้ตัว

ทั้งสองประโยคสามารถสื่อความหมายได้ แต่ถ้าเปลี่ยนคำว่า "สิ่ง" เป็น "เครื่องมือ" และ "ประชนที่อ่าน" เป็น "ผู้อ่าน" ประโยคก็จะสละสลวยขึ้น

๔.การลำดับคำไม่เหมาะสม ตัวอย่างเช่น

-ผู้อ่านเองก็สามารถจะสัมผัสถึงความละเอียดละมุนละไมของภาษาที่ผู้เขียนใช้ได้

"ได้" ขยายกริยา "สัมผัส" จึงควรย้าย "ได้" ไปไว้หลังคำกริยา "สัมผัส" เป็น "สัมผัสได้ถึง"

๕.การใช้ประโยคที่มีลักษณะไม่เป็นภาษาไทย

ข้อนี้สำคัญมาก จะแยกได้ว่าประโยคใดไม่มีลักษณะเป็นภาษาไทย ตัวอย่างเช่น

-ฉันพบตัวเองอยู่ในบ้านคนเดียว

จะเห็นได้ว่า ประโยคตัวอย่างข้างต้นเยิ่นเย้อ ประโยคเหล่านี้ได้รับอิทธิพลจากสำนวนหรือรูปประโยคของภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ เราสามารถเขียนประโยคใหม่ ให้มีลักษณะเป็นภาษาไทย ดังนี้

- ฉันอยู่ในบ้านคนเดียว

พึงตระหนักว่าการใช้ภาษาไทยนั้น

“ตัดออกสักคำก็ขาด เพิ่มเข้าสักคำก็เกิน ใช้คำน้อย แต่ได้ความมาก”

ที่มา หนังสือติวไทยเอ็นทรานซ์ เล่ม ๒
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: การใช้ภาษาไทย..ยังไงกันแน่

โพสต์โดย น้ำฟ้า » พุธ 31 ม.ค. 2018 7:11 pm

พระบรมรูป พระรูป

แต่เดิมนั้นคำว่า รูป ไม่ว่าจะเป็นรูปถ่าย รูปเขียน รูปปั้น ใช้เพียงคำว่า พระบรมรูป กับ พระรูป กล่าวคือถ้าเป็น รูปถ่าย รูปเขียน รูปปั้น ของพระมหากษัตริย์ ราชาศัพท์ใช้ว่า พระบรมรูป และหากเป็น รูปถ่าย รูปเขียน รูปปั้น ของเจ้านายใช้ว่า พระรูป โดยหากประสงค์จะขยายความให้ชัดเจนขึ้น ก็อาจใช้ว่า พระบรมรูปปั้น พระรูปปั้น พระบรมรูปเขียน พระรูปเขียน เป็นต้น ต่อมามีการนำคำว่า พระบรมฉายาลักษณ์ มาใช้เป็นราชาศัพท์ของคำว่า ภาพถ่าย ที่ใช้แก่พระมหากษัตริย์ หลังจากนั้นมีการนำคำว่า พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ มาใช้ ดังนั้นปัจจุบัน รูปเขียนเหมือนบุคคลจริง ของพระมหากษัตริย์ จึงมีราชาศัพท์ใช้ว่า พระบรมรูปเขียน พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ พระบรมสาทิสลักษณ์ โดย รูปเขียนเหมือนบุคคลจริง ของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีราชาศัพท์ใช้ว่า พระรูปเขียน พระฉายาสาทิสลักษณ์ และ รูปเขียนเหมือนบุคคลจริง ของพระบรมวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า ลงมาจนถึงพระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้า มีราชาศัพท์ใช้ว่า พระรูป หากเป็น รูปถ่าย ของพระมหากษัตริย์ ราชาศัพท์ใช้ว่า พระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งหากเป็น รูปถ่าย ของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ราชาศัพท์ใช้ว่า พระฉายาลักษณ์ พระรูป และหากเป็น รูปถ่าย ของพระบรมวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า ลงมาจนถึงพระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้า ราชาศัพท์ใช้ว่า พระรูป อนึ่ง รูปปั้น รูปหล่อ ของพระมหากษัตริย์ ราชาศัพท์ใช้ว่า พระบรมรูปปั้น พระบรมรูปหล่อ ตามลำดับ และหากเป็น รูปปั้น รูปหล่อ ของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ลงมาจนถึงพระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้า ราชาศัพท์ใช้ว่า พระรูปปั้น พระรูปหล่อ ตามลำดับ ทั้งนี้ราชาศัพท์คำกลาง ๆ ของ รูปเขียน รูปปั้น รูปหล่อ หากไม่ได้อธิบายชี้เฉพาะก็ใช้ว่า พระบรมรูป พระรูป ได้ แต่คำว่า “พระบรมรูป” และ “พระบรมรูปถ่าย” ซึ่งโบราณใช้เป็นราชาศัพท์ของคำว่า “รูปถ่าย” ของพระมหากษัตริย์ด้วยนั้น ปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้ว หากจะเลือกใช้ราชาศัพท์ของคำว่าเกี่ยวกับ รูป จึงควรพิจารณาเลือกสรรคำให้สม่ำเสมอและเหมาะสมกับเนื้อหาที่จะเขียนคำอธิบาย

ที่มา เว็บไซต์ ราชบัณฑิตยสถาน
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: การใช้ภาษาไทย..ยังไงกันแน่

โพสต์โดย น้ำฟ้า » เสาร์ 03 ก.พ. 2018 5:40 pm

ฉันมิตร หรือ ฉันท์มิตร
ผู้ใช้ภาษาไทยจำนวนมากยังคงสับสนระหว่างคำ ฉันมิตร ที่ไม่มี ท ทหาร การันต์ กับ ฉันท์มิตร ที่มี ท ทหาร การันต์ ว่าคำใดเป็นคำที่เขียนถูกต้อง สังเกตจากที่มีผู้โทรศัพท์เข้ามาสอบถามเจ้าหน้าที่ของราชบัณฑิตยสถานอยู่บ่อยครั้ง จึงขอนำปัญหาการใช้คำดังกล่าวมาอธิบายผ่านคอลัมน์ “องค์ความรู้ภาษาไทยโดยราชบัณฑิตยสถาน” อีกครั้ง เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้ใช้ภาษาไทยคนอื่น ๆ ด้วย

คำว่า ฉัน เป็นทั้งสรรพนามบุรุษที่ ๑ กริยา และคำวิเศษณ์ ถ้าเป็นสรรพนามบุรุษที่ ๑ หมายถึง คําที่ใช้แทนตัวผู้พูดเมื่อพูดกับผู้ที่เสมอกันหรือเมื่อผู้ใหญ่พูดกับผู้น้อย ถ้าเป็นคำกริยา หมายถึง กิน (ใช้แก่ภิกษุสามเณร) และถ้าเป็นคำวิเศษณ์ หมายถึง เสมอเหมือน หรือหมายถึง มีแสงกล้า มีแสงพุ่งออกไป
ส่วนคำว่า ฉันท์ เป็นคำนาม หมายถึง คำประพันธ์ประเภทหนึ่งที่วางคำ ครุ ลหุ เป็นแบบต่าง ๆ และหมายถึง ความพอใจ ความรักใคร่ ความชอบใจ ความยินดี; ความร่วมความคิดความเห็นกัน ความไว้เนื้อเชื่อใจ

จากความหมายของคำทั้งสองที่นำเสนอไปข้างต้นนั้น ผู้เขียนเชื่อว่า คงมีผู้อ่านจำนวนหนึ่งที่เข้าใจว่า คำ ฉันท์มิตร ที่มี ท ทหาร การันต์ เป็นคำที่เขียนถูกต้อง เพราะพิจารณาจากความหมายของคำว่า ฉันท์ ในความหมายที่ ๒ ที่นิยามว่า ความรักใคร่ ความชอบใจ ฯลฯ แต่อันที่จริงแล้ว คำที่เขียนถูกต้องคือ ฉันมิตร ที่ไม่มี ท ทหาร การันต์ เพราะคำนี้มีความหมายว่า เสมอเหมือนเพื่อน ไม่ได้มีความหมายว่า เพื่อนรักใคร่ หรือ เพื่อนที่ไว้เนื้อเชื่อใจ อย่างที่ผู้ใช้ภาษาไทยส่วนใหญ่มักเข้าใจ

ดังนั้น หากจะเขียนคำว่า ฉันมิตร ฉันเพื่อน หรือฉันญาติ ให้เขียนรูป ฉัน ที่ไม่มี ท ทหาร การันต์

ที่มา เว็บไซต์ราชบัณฑิตยสถาน
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: การใช้ภาษาไทย..ยังไงกันแน่

โพสต์โดย น้ำฝน ทะกลกิจ » ศุกร์ 19 ก.ค. 2019 5:26 am

เทียนจำนำพรรษา..เป็นคำที่ใช้ถูกหรือไม่
maxresdefault_resize.jpg
maxresdefault_resize.jpg (76.02 KiB) เปิดดู 19516 ครั้ง

เทียนจำนำพรรษา เป็นคำที่ใช้ผิดแน่นอน และผิดถึงสองชั้น เรียกว่าผิดทับซ้อน ผิดซ้อนแรกคือ ไปเรียก ผ้าอาบน้ำฝน ว่า ผ้าจำนำพรรษา

ผ้าอาบน้ำฝน ถวายก่อนเข้าพรรษา ผ้าจำนำพรรษา คือผ้าที่ถวายหลังจากออกพรรษาแล้ว คนละเรื่องกันเลย ประเภทของผ้าและวัตถุประสงค์ของผ้า ก็คนละเรื่องกันด้วย

ผิดซ้อนสองคือ ไปเรียกชื่อเทียนตามผ้าจำนำพรรษา ซึ่งเรียกผิดอยู่ก่อนแล้วว่า เทียนจำนำพรรษาด้วยความคิดเอาเองว่า เมื่อผ้าชนิดนั้นถวายก่อนเข้าพรรษา เรียกว่า ผ้าจำนำพรรษา และเทียนชนิดนี้ก็ถวายก่อนเข้าพรรษาเหมือนกัน ก็ควรจะเรียก เทียนจำนำพรรษา เสียด้วย จะได้เหมือนๆ กัน เข้าชุดกันพอดี

เทียนชนิดนี้เขามีคำเรียกมาก่อนแล้วตั้งแต่โบราณนานไกลว่า เทียนพรรษา ไม่ใช่ เทียนจำพรรษา หรือเทียนจำนำพรรษา อะไรทั้งนั้น จำนำ แผลงมาจาก จำ จำนำพรรษา ก็คือ จำพรรษา นั่นเอง

จริงอยู่ คำว่า จำ หรือ จำนำ อาจหมายถึง ประจำ อย่างในคำว่า เจ้าประจำ ขาประจำ หรือทำอย่างนั้นอยู่เป็นประจำ แต่นั่นต้องในบริบทอื่น ถ้าควบอยู่กับคำว่า พรรษา เป็น จำพรรษา หรือ จำนำพรรษา ต้องมีความหมายเดียวเท่านั้น คือ อยู่ประจำที่ และใช้กับพระสงฆ์ในความหมายเฉพาะว่า อยู่ประจำที่ในระหว่างฤดูฝน ที่พูดกันติดปากว่า เข้าพรรษา

ผ้าจำนำพรรษา พูดลัดตัดความมาจากคำว่า ผ้าที่ถวายแก่พระสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาครบตามเวลาที่กำหนดแล้ว ผ้าชนิดนี้จึงต้องถวายหลังจากออกพรรษาแล้ว ไม่ใช่ถวายก่อนเข้าพรรษา ความประสงค์ก็คือเพื่อให้พระท่านผลัดเปลี่ยนจีวรชุดเก่าที่ใช้มาตลอด ๓ เดือนแล้ว โดยเจตนาเดียวกับผ้ากฐินนั่นเอง

ผ้าที่ถวายก่อนเข้าพรรษา ก็มีคำเรียกมาก่อนแล้วตั้งแต่โบราณนานไกลว่า ผ้าอาบน้ำฝน เรียกสั้นๆ ว่า ผ้าอาบ คำเก่าของคนเก่าเรียก ผ้าชุบอาบ ผ้าชนิดนี้พระท่านใช้ผลัดสรงน้ำ (อาบน้ำ) จึงเรียกว่า ผ้าอาบน้ำฝน ประโยชน์ใช้สอยก็คล้ายๆ กับผ้าขาวม้าของชาวบ้านนั่นเอง

ตลอดเวลา ๓ เดือนในช่วงฤดูฝน มักมีฝนตกชุก ก่อนหน้าที่จะมีพระพุทธานุญาตให้มีผ้าอาบน้ำฝน พระเปลือยกายอาบน้ำฝน ชาวบ้านไปเห็นเข้าจึงคิดอ่านถวายผ้าสำหรับผลัดนุ่งอาบน้ำ กำหนดเวลาถวายช่วงก่อนเข้าพรรษา เพราะพระท่านจะได้ใช้ในระหว่างพรรษา ผ้าอาบน้ำฝนไม่ใช่ผ้าสบง สบง คือผ้านุ่งประจำ เป็น ๑ ในจีวร ๓ ผืน (ไตรจีวร) ผ้าอาบน้ำฝนเป็นผ้าพิเศษ นอกไตรจีวร

ผ้าอาบน้ำฝน จึงไม่ใช่ ผ้าจำนำพรรษา ดังที่เรียกกันผิดๆ ซ้ำยังมาพาเอา เทียนพรรษา ให้ผิดตามกลายเป็น เทียนจำนำพรรษา ไปอีกคำหนึ่ง

นี่คือโทษของการไม่ศึกษา แล้วพอใครเขาจะให้ความรู้ ก็ไม่อ่าน ไม่ฟัง ไม่สน ฉันจะเรียกตามที่ฉันเข้าใจ พอใครทักท้วงเข้า ก็โกรธ อ้างหน้าตาเฉย ?คนมันไม่รู้นี่ ฉันไม่ใช่นักปราชญ์เหมือนคุณนี่ โดนว่าอย่างนี้เข้า ก็เลยเป็นโรควางเฉยกันหมด เห็นใครพูดผิดเขียนผิด ใช้ผิด ก็ไม่ทักท้วง ปล่อยให้คำผิดลอยนวล ทั้งๆ ที่คำว่า เทียนจำนำพรรษา นั้นเกิดมาจาก
๑. ความไม่รู้ คือไม่รู้ว่าเทียนชนิดนี้เขามีคำเรียกอยู่แล้วว่า เทียนพรรษา
๒. รู้ผิด คือคิดเอาเองว่า เมื่อเรียก ผ้าจำนำพรรษา ได้ ก็ควรเรียกเทียนชนิดนี้ว่า เทียนจำนำพรรษา (ผิดทับซ้อนกันเข้าไป)

ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือ พยายามหาทางอธิบายผิดให้เป็นถูก เช่น บอกว่า จำนำ หมายถึง ประจำเทียนจำนำพรรษา หมายถึงเทียนที่ถวายเป็นประจำทุกปีก่อนเข้าพรรษา กลายเป็นฟังได้ ฟังขึ้น มีเหตุผล ลืมไปว่ามีคำว่า เทียนพรรษา หนักเข้า นานเข้า ราชบัณฑิตยสถานก็คงต้องเพิ่มเติมนิยามคำว่า เทียนพรรษา เข้าไป เป็น

เทียนพรรษา น. เทียนขนาดใหญ่และยาวเป็นพิเศษกว่าเทียนชนิดอื่น สําหรับจุดในโบสถ์บูชาพระตั้งแต่วันเข้าพรรษาจนถึงวันออกพรรษา, เทียนจำนำพรรษา ก็เรียก

แล้วก็ต้องเพิ่มลูกคำของคำว่า เทียน ขึ้นมาอีกคำหนึ่งว่า เทียนจำนำพรรษา มีคำนิยามดังนี้

เทียนจำนำพรรษา น. เทียนขนาดใหญ่และยาวเป็นพิเศษกว่าเทียนชนิดอื่น สําหรับจุดในโบสถ์บูชาพระตั้งแต่วันเข้าพรรษาจนถึงวันออกพรรษา, เทียนพรรษา ก็เรียก

คำผิดก็กลายเป็นคำถูกไปโดยสมบูรณ์

แทนที่จะช่วยกันทักท้วงหน่วงรั้งให้เลิกใช้คำผิด กลับไปใช้คำถูก เรากลับพยายามอธิบายคำผิดให้กลายเป็นคำถูก ทำนองเดียวกับ การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันแบบถ่ายเสียง เดี๋ยวนี้ก็พูดกันบนหน้ากระดานสนทนานี้เองว่า แปลเป็นภาษาอังกฤษโดยไม่มีใครทักท้วง ปล่อยให้คำผิดลอยนวล ในบ้านของผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลความถูกต้องของภาษานั่นเอง อีกไม่นานก็คงมีคนช่วยอธิบายคำนี้ให้กลายเป็นถูกไปอีกคำหนึ่ง หนักเข้า นานเข้า ผิดก็กลายเป็นถูกไปเอง

แล้วเราก็บอกกันว่า คำที่เกิดขึ้นจากความไม่รู้ หรือรู้ผิด แล้วเรามาช่วยกันหาทางอธิบายให้ กลายเป็นคำถูกนั้น เป็นความคลี่คลายขยายตัวของภาษา แสดงให้เห็นว่าภาษาของเรามีวิวัฒนาการขึ้น

ที่มา : นาวาเอกทองย้อย

ที่มา
http://www.royin.go.th/th/webboardnew/a ... &QID=10399
น้ำฝน ทะกลกิจ
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 1111
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 30 ก.ย. 2018 1:00 pm

Re: การใช้ภาษาไทย..ยังไงกันแน่

โพสต์โดย น้ำฝน ทะกลกิจ » อาทิตย์ 01 ก.ย. 2019 6:56 pm

การเขียนประวัติผู้ตายในงานศพ

งานศพ.jpg
งานศพ.jpg (43.48 KiB) เปิดดู 19246 ครั้ง


วันก่อนเพื่อนเห็นข้อความในงานศพแล้วสงสัยว่า เหตุใดในงานนั้นจึงเขียน ชาตะ – มตะ ไม่ใช้คำว่า “มรณะ” เหมือนที่เคยเห็นอยู่เป็นประจำ ใช้ ชาตะ – มตะ ถูกต้องแล้วค่ะ ลองดูความหมายของคำเหล่านี้นะคะ

ชาตะ หมายถึง เกิดแล้ว
มตะ หมายถึง ตายแล้ว
ชาติ หรือ สูติ หมายถึง การเกิด
มรณะ หมายถึง การตาย

ดังนั้นจึงควรใช้ ชาตะ คู่กับ มตะ ส่วน ชาติ หรือ สูติ ถึงจะคู่กับ มรณะ เพราะเป็นศัพท์กิริยาเช่นเดียวกัน
น้ำฝน ทะกลกิจ
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 1111
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 30 ก.ย. 2018 1:00 pm

Re: การใช้ภาษาไทย..ยังไงกันแน่

โพสต์โดย น้ำฝน ทะกลกิจ » อาทิตย์ 22 ก.ย. 2019 11:24 am

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ เก็บไว้ทั้งคำว่า ก๊วยเตี๋ยว และ ก๋วยเตี๋ยว

ก๋วยเตี๋ยว_resize.jpg
ก๋วยเตี๋ยว_resize.jpg (65.92 KiB) เปิดดู 19169 ครั้ง


ก๊วยเตี๋ยว, ก๋วยเตี๋ยว
น. ชื่อของกินชนิดหนึ่ง ทำด้วยแป้งข้าวเจ้าเป็นเส้น ๆ ถ้าลวกสุกแล้วปรุงด้วยเครื่องมีหมูเป็นต้น เรียกว่า ก๋วยเตี๋ยวแห้ง ถ้าใส่น้ำซุป เรียกว่า ก๋วยเตี๋ยวน้ำ ถ้านำเส้นมาผัด เรียกว่า ก๋วยเตี๋ยวผัด. (จ.)
ที่มา : ราชบัณฑิตยสภา

คำที่เขียนถูก - เขียนผิด ภาษาคอมพิวเตอร์
เขียนถูกผิด_resize.jpg
เขียนถูกผิด_resize.jpg (87.26 KiB) เปิดดู 19169 ครั้ง
น้ำฝน ทะกลกิจ
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 1111
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 30 ก.ย. 2018 1:00 pm

Re: การใช้ภาษาไทย..ยังไงกันแน่

โพสต์โดย น้ำฝน ทะกลกิจ » อาทิตย์ 22 ก.ย. 2019 11:28 am

บันไดโรงเรียน เขียนคำที่เขียนถูก-มักเขียนผิด
บันได1_resize.jpg
บันได1_resize.jpg (71.37 KiB) เปิดดู 19169 ครั้ง


บันได2_resize.jpg
บันได2_resize.jpg (67.66 KiB) เปิดดู 19169 ครั้ง
น้ำฝน ทะกลกิจ
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 1111
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 30 ก.ย. 2018 1:00 pm

Re: การใช้ภาษาไทย..ยังไงกันแน่

โพสต์โดย admin » พฤหัสฯ. 31 ต.ค. 2019 8:01 pm

ความต่าง “เผยแผ่” กับ “เผยแพร่”

ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาโดยตรง เช่น มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เอกสารที่ออกมาจากหน่วยงานเหล่านี้มักจะใช้คำว่า “เผยแผ่” มากกว่า “เผยแพร่” มีเหตุผลอะไรซ่อนอยู่เบื้องหลังหรือไม่ ทั้ง ๆ ที่คำทั้งสองนี้ดูเหมือนจะคล้ายหรือเหมือนกัน และสามารถใช้แทนกันได้

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า

เผยแผ่ ก. ทำให้ขยายออกไป ขยายออกไป เช่น เผยแผ่พระศาสนา.

เผยแพร่ ก. โฆษณาให้แพร่หลาย เช่น เผยแพร่ความรู้.

คำอธิบายต่อไปนี้เป็นความต่างระหว่าง “เผยแผ่” กับ “เผยแพร่” ที่คาดว่าทำให้ท่านผู้อ่านกระจ่างแจ้งขึ้น สามารถแยกความต่างได้

เผยแผ่ เป็นการทำให้ขยายออกไปโดยไม่ทิ้งหลักเดิม ของเดิมเป็นอย่างไรก็ขยายออกไปตามนั้นทุกประการ เช่นแผ่เสื่อ แผ่สาด ท่านผู้อ่านที่เคยแผ่เสื่อ ลองนึกภาพดู เมื่อแผ่เสื่อออกไป เสื่อผืนนั้นก็ขยายกว้างออกไป และที่ขยายออกไปก็เป็นเสื่อผืนนั้นนั่นเอง

เผยแพร่ เป็นการทำให้ขยายออกไปเหมือนกัน แต่ต้องทิ้งของเดิมไป ตัดขาดจากของเดิมไป เช่น การแพร่ของเชื้อโรค เชื้อโรคที่แพร่จากสถานที่แห่งหนึ่งไปอีกที่หนึ่งเป็นเชื้อโรคคนละตัวกัน ไม่ใช่เชื้อโรคตัวเดียวกัน

ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาจึงมักใช้คำว่า เผยแผ่ กล่าวคือ พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนมาอย่างไร ผู้ที่นำไปเผยแผ่ก็นำคำสอนที่พระพุทธองค์ทรงสอนนั้นไปเผยแผ่ให้ขยายออกไป โดยไม่ทั้งหลักตามที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนไว้ ไม่นำความคิดหรือความเห็นของตนเองสอดแทรกเข้าไปด้วย

เว็บเซต์ราชบัณฑิตยสถาน
ภาษาสยาม "งดงามความเป็นไทย"
ภาพประจำตัวสมาชิก
admin
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 309
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:28 pm

Re: การใช้ภาษาไทย..ยังไงกันแน่

โพสต์โดย admin » พฤหัสฯ. 31 ต.ค. 2019 8:03 pm

คำที่มักเขียนผิด
20190913_144418_resize.jpg
20190913_144418_resize.jpg (70.04 KiB) เปิดดู 19152 ครั้ง
ภาษาสยาม "งดงามความเป็นไทย"
ภาพประจำตัวสมาชิก
admin
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 309
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:28 pm

ต่อไป

ย้อนกลับไปยัง สนทนากับคนภาษาไทย

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 147 ท่าน

cron