ใครได้ดู "สี่แผ่นดิน" คงได้ชมฉากที่แม่พลอยต้องตามเสด็จไปยังบางปะอินเพื่อร่วมพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ นั่นคือพระศพของ พระองค์เจ้าหญิงศรีวิไลยลักษณ์ และหลังจากนั้น ช้อย ได้มาบอกคุณสายและพลอยว่า สมเด็จหญิงใหญ่ สิ้นพระชนม์ เป็นพระองค์ต่อมาซึ่งก็คือ เจ้าฟ้าหญิงจันทราสรัทวาร นั่นเอง
ความผูกพันของสองพี่น้อง จนวันสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ

- a1.jpg (169.65 KiB) เปิดดู 2338 ครั้ง
เรื่องราวความรักและผูกพันที่คลังประวัติศาสตร์ไทยจะนำเสนอในค่ำคืนนี้ก็คือ ความรักและผูกพันระหว่างพี่สาวกับน้องสาว ที่เต็มไปด้วยความปลื้มปิติ ความสนุกสนาน และความเศร้าสลด สองพี่น้องที่ว่านี้ก็คือ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงศรีวิไลยลักษณ์ กับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงจันทราฯ ซึ่งทั้งสองพระองค์เป็นพระราชธิดาในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ โดยมีพระประวัติดังนี้
๑.พระองค์เจ้าหญิงศรีวิไลยลักษณ์ ทรงเป็นพระราชธิดาองค์ที่ ๒ ประสูติในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๔๑๑ ชาววังออกพระนามว่า เสด็จพระองค์ใหญ่ ประสูติจากเจ้าจอมมารดาแพ บุนนาค
๒.เจ้าฟ้าหญิงจันทราสรัทวาร ทรงเป็นพระราชธิดาองค์ที่ ๖ ประสุติในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๑๖ ชาววังออกพระนามว่า สมเด็จหญิงใหญ่ ประสูติจากพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์
จะเห็นได้ว่าทั้งสองพระองค์ทรงเป็นพี่น้องต่างมารดากันและมีพระชนม์ที่ห่างกันถึง5ปี แต่ก็เป็นเรื่องแปลกที่ทั้งสองพระองค์กับมีความรักใคร่สนิทสนมกันเป็นพิเศษมากกว่าพี่น้องแม่เดียวกันเสียอีก เล่ากันว่าวันใดที่ต้องขึ้นเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวบนพระที่นั่ง ทั้งสองพระองค์ก็มักจะประทับอยู่ข้างๆกันเสมอ เมื่อเสร็จจากเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวแล้ว สมเด็จหญิงใหญ่เป็นต้องขอตามเสด็จพระองค์เจ้าหญิงศรีวิไลยลักษณ์ไปประทับเล่นต่อที่พระตำหนักทุกครั้งไป บางวันสมเด็จหญิงใหญ่ก็จะเสด็จไปเฝ้าพระองค์เจ้าหญิงศรีวิไลยลักษณ์ตั้งแต่เช้า เสด็จกลับอีกทีก็ใกล้ค่ำ ทั้งสองพระองค์สามารถประทับทรงพระสำราญกันได้ครั้งละนานๆและมักจะหากิจกรรมทำร่วมกันอยู่เสมอๆเช่น งานประดิษฐ์ งานดอกไม้สด งานครัว เป็นต้น บางวันเสด็จพระดำเนินผ่านกันโดยบังเอิญก็เป็นต้องหยุดคุยกันเป็นนานสองนาน เป็นที่รู้กันของชาววังสมัยนั้นว่า ถ้าสองพระองค์นี้เจอกันทีไรเป็นต้องมีเรื่องสนุกสนานพูดคุยกันทุกที
แต่แล้วก็มาถึงวันที่ไม่มีผู้ใดคาดคิด คือวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๔๗ พระองค์เจ้าหญิงศรีวิไลยลักษณ์ทรงประชวรหนักและสิ้นพระชนม์ลงอย่างกะทันหันรวมพระชนม์ ๓๖ พรรษา สร้างความโศกเศร้าให้แก่พระเจ้าอยู่หัวผู้เป็นพ่อและน้องๆทุกคน หนึ่งในนั้นก็คือ สมเด็จหญิงใหญ่ผู้เป็นน้องสาวที่รักใคร่และสนิทสนมกันมาตั้งแต่ยังเด็กๆ ในการนี้พระเจ้าอยู่หัวโปรดให้จัดงานพระราชทานเพลิงพระศพที่บางปะอิน สมเด็จหญิงใหญ่จึงรีบพระดำเนินล่วงหน้าไปประทับที่บางปะอินเพื่อรอรับศพพระพี่นาง แต่เมื่อถึงวันพระราชทานเพลิง สมเด็จหญิงใหญ่กลับมีพระอาการประชวรเป็นไข้พิษพระวรกายร้อนกะทันหัน พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้แพทย์หลวงเข้ารักษาโดยไว และสั่งให้ทหารสูบน้ำจากสระแล้วฉีดขึ้นไปบนหลังคาพระตำหนัก เสมือนฝนตกเพื่อเป็นการคลายความร้อนให้แก่พระราชธิดา แต่พระอาการก็ไม่ดีขึ้น พระองค์ทรงทนไข้ไม่ไหวถึงกับเพ้อตรัสเป็นภาษาอังกฤษ และสิ้นพระชนม์ลงในคืนบำเพ็ญพระราชกุศลพระอัฐิพระองค์เจ้าหญิงศรีวิไลยลักษณ์ รวมพระชนม์ ๓๒ พรรษา

- a2.jpg (126.67 KiB) เปิดดู 2338 ครั้ง
นับว่าสมเด็จหญิงใหญ่ทรงทำหน้าที่ในฐานะพระขนิษฐา(น้องสาว)ถวายงานพระพี่นางอย่างเต็มกำลังจนนาทีสุดท้ายของพระชนม์ชีพ คือการมารอรับพระศพทั้งๆที่ตัวของพระองค์เองยังประชวรอยู่ สุดท้ายผู้ที่ได้รับความโทรมนัสและทรมานจิตใจมากที่สุดเห็นจะเป็นพระเจ้าอยู่หัวที่ต้องแห่พระศพพระราชธิดาองค์หนึ่งขึ้นมาเผาที่บางประอิน แต่ก็ต้องแห่พระศพพระราชธิดาอีกองค์หนึ่งกลับเข้าวังหลวง
อ้างอิง: บทสัมภาษณ์ หม่อมเจ้าหญิงจงจิตีถนอม ดิศกุล,ลูกๆของพ่อ โดยเฉลิมฉัตร, เมื่อสมเด้จพระพุทธเจ้าหลวงหลั่งน้ำพระเนตร โดยเวนิสา เสนีวงศ์ ณ อยุธยา
จากภาพด้านบนคือ พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ สถานที่ประดิษฐานพระศพพระองค์เจ้าหญิงศรีวิไลยลักษณ์
สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ และสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พร้อมด้วยพระราชชายา พระเจ้าลูกเธอ เจ้าจอมมารดา พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพารฝ่ายใน ทรงฉายภาพเป็นที่ระลึกในงานพระเมรุ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ สุนทรศักดิ์กัลยาวดี กรมขุนสุพรรณภาควดี ณ พระราชวังบางปะอิน โดยผู้มีพระชันษาสูงกว่าพระเจ้าลูกเธอในพระโกศ จะทรงสีดำไว้ทุกข์ส่วนผู้ที่มีพระชันษาอ่อนกว่าจะทรงชุดขาว ตามธรรมเนียมในสมัยนั้น (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร / ลงสีภาพโดย Disapong Netlomwong) ภาพนี้น่าจะถ่ายระหว่าง วันที่ ๘ – ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๔๘ ที่ฝ่ายในล่วงหน้าไปที่พระราชวังบางปะอินก่อน และก่อนที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์ จะทรงประชวร ซึ่งต่อมาได้สิ้นพระชนม์ ในวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๔๘ เพราะภายหลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริที่จะทรงชุดขาวไว้ทุกข์ จึงเปลี่ยนมาแต่งขาวทั้งหมด

- สีขาวดำไว้ทุกข์-696x343.jpg (56.37 KiB) เปิดดู 2338 ครั้ง
การไว้ทุกข์ในสมัยก่อนนั้นมีอยู่หลายอย่างต่างชนิด คือ
๑. สีดำ สำหรับผู้ใหญ่หรือผู้ที่มีอายุแก่กว่าผู้ตาย
๒. สีขาว สำหรับผู้เยาว์หรือผู้ที่มีอายุอ่อนกว่าผู้ตาย
๓. สีม่วงแก่หรือน้ำเงินแก่ สำหรับผู้ที่มิได้เป็นญาติเกี่ยวดองกับผู้ตายแต่ประการใด
ฉะนั้นในงานศพคนหนึ่งๆ หรือในงานเผาศพก็ตาม เราจะได้ความรู้ว่า ใครเป็นอะไรกับใครเป็นอันมาก เพราะผู้ที่แต่งตัวตัวไปในงานนั้นๆ จะต้องรู้เรื่องราวเกี่ยวข้องกับตัวเองโดยถูกต้องจึงจะแต่งสีให้ถูกได้ ถ้าผู้ใดแต่งสีและอธิบายไม่ได้ ก็มักจะถูกดูหมิ่นว่าเป็นผู้ไม่มีความรู้ แม้เรื่องเลือดเนื้อของตัวเอง
ของทุกอย่างมีดีก็ต้องมีเสีย แต่ก่อนก็ดีที่ได้รู้จักกันว่าใครเป็นใคร แต่ก็ลำบากในการแต่งกายเป็นอันมาก ถ้าจะต้องไปพร้อมกัน ๒ ศพในวันเดียวกัน ก็จะต้องกลับบ้านเพื่อไปผลัดสีให้ถูกต้องอีก
ฉะนั้นในการที่มาเลิกสีอื่นหมด ใช้สีดำอย่างเดียวเช่นทุกวันนี้ก็สะดวกดี แต่ก็ขาดความรู้จักกัน เด็กสมัยนี้จึงมักจะตอบเรื่องพืชพันธุ์ของตัวเองไม่ได้ แม้เพียงปู่ก็ไม่รู้เสียแล้วว่าเป็นใคร และได้ทำอะไรเหนื่อยยากมาเพียงใดบ้าง แต่ถ้าจะพูดกันถึงเพียงความสะดวกแล้ว การแต่งตัวสีดำเพียงสีเดียวก็ดีแล้ว