ระแทะ หมายถึง เกวียนขนาดเล็ก มีทั้งชนิดโถงและชนิดมีประทุน

- 65447.jpg (62.91 KiB) เปิดดู 8027 ครั้ง
คำนี้มักพบในวรรณคดี เช่นในบทละครเรื่องอิเหนาพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ ตอนสังคามาระตาแต่งถ้ำ มีบทกลอนว่าดังนี้
“ที่แต่งถ้ำก็ทำไม่หยุดพัก ฉลุฉลักลายเลิศเฉิดฉัน
ที่ปลูกต้นไม้ในสวนนั้น เกณฑ์กันรดน้ำวุ่นวายไป
ที่ต้นไหนตายก็ให้ผลัด เร่งรัดกันมาหาปลูกใหม่
ทำทั้งระแทะทองอำไพ ไว้ในสวนเสร็จดังบัญชา”
คำว่า ระแทะ มาจากภาษาเขมรว่า รเทะ (อ่าน รอ-เต๊ะฮฺ) แปลว่า เกวียน รถ คำนี้ภาษาเขมรยืมมาจากภาษาบาลีและสันสกฤตว่า รถ (อ่าน ระ- ถะ) แปลว่า สิ่งที่เคลื่อนไป หมายถึง ยานพาหนะมีล้อ ได้แก่ เกวียน รถ รถศึก
ที่มา : บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.