ประวัติศาสตร์ล้านนา

เรื่องราวของอาณาจักรล้านนา

Re: ประวัติศาสตร์ล้านนา

โพสต์โดย Namfar » จันทร์ 24 เม.ย. 2017 3:33 pm

ตำนานเมืองเชียงใหม่

A8347946-3.jpg
A8347946-3.jpg (71.23 KiB) เปิดดู 10586 ครั้ง


ตอนที่ ๑ กำเนิดเมืองเชียงใหม่

เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนา เป็นเมืองที่มีความโดดเด่นทั้งด้านวัฒนธรรม ประเพณี สถาปัตยกรรม ความงดงามของธรรมชาติ และความเจริญรุ่งเรือง แม้ในปัจจุบันอาณาจักรล้านนาจะรวมเข้ากับสยาม ทำให้ล้านนากลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย แต่เชียงใหม่ก็ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของความเป็นล้านนาเอาไว้ได้อย่างงดงาม และภายใต้ความงดงามนั้นมีประวัติความเป็นมาอันยาวนานที่ลูกหลานควรได้รับรู้ เพื่อให้เกิดสำนึกรัก และเรียนรู้ที่จะช่วยกันธำรงรักษามรดกอันทรงคุณค่าซึ่งตกทอดมาจากบรรพบุรุษ

นับตั้งแต่พญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๙ ในปัจจุบันเชียงใหม่มีอายุรวมเจ็ดร้อยกว่าปี (๗๒๑ ปีในปี พ.ศ.๒๕๖๐) นับเวลาที่ราชวงศ์มังรายที่ครองเชียงใหม่ได้ ๒๖๒ ปี สิ้นรัชสมัยของพระราชวงศ์มังรายปี ๒๑๐๑ โดยมีพระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์ครองเมืองเป็นองค์สุดท้าย เนื่องจากเสียเมืองให้แก่พระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่า เมื่อวันเสาร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ เวลา ๙ โมง ปี พ.ศ. ๒๑๐๑

พญามังรายมหาราช เป็นพระโอรสของพญาลาวเม็ง กับพระนางอั้วมิ่งจอมขวัญ ซึ่งเป็นธิดาของท้าวรุ่งแก่นชาย เจ้าเมืองเชียงรุ้ง ทรงประสูติเมื่อ พ.ศ. ๑๗๘๒ และขึ้นครองราชย์สมบัติแทนพระบิดาเมื่อ พ.ศ. ๑๘๐๒ ที่เมืองชัยวรนครเชียงลาว หรือเมืองหิรัญนครเงินยาง ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสายไหลลงมาบรรจบแม่น้ำโขง

หลังจากขึ้นเสวยราชสมบัติได้ ๓ ปี ช้างพระที่นั่งของพระองค์ซึ่งปล่อยไว้ที่ป่าหัวดอยทางทิศตะวันออกได้หลุดหายไป พระองค์จึงเสด็จตามช้างจนถึงดอยจอมทอง ริมฝั่งแม่น้ำกก เห็นภูมิประเทศเป็นที่เหมาะสมชัยภูมิดี ก็โปรดให้สร้างพระนครขึ้นที่นั่นโดยก่อกำแพงโอบรอบเอาดอยจอมทองไว้ตรงกลางเมือง แล้วเรียกว่า “เมืองเชียงราย” แล้วทรงย้ายราชธานีจากเมืองหิรัญนครเงินยางมาตั้งอยู่ที่เชียงราย

หลังจากนั้นพระองค์ก็รวบรวมพลเมืองตั้งกองทัพให้เข้มแข็ง แล้วเที่ยวตีหัวเมืองน้อยใหญ่ที่ไม่ยอมสวามิภักดิ์เพื่อรวมเอาล้านนาไทยให้เป็นประเทศเดียวกัน จึงไม่ค่อยได้ประทับอยู่เชียงรายนัก จนปี พ.ศ.๑๘๑๑ พระองค์ประทับอยู่เมืองฝาง ให้ขุนเครื่องโอรสองค์โตครองเมืองเชียงราย ขุนเครื่องคบคิดกบถกับขุนไสเรืองผู้เป็นอำมาตย์ ทรงทราบเรื่องจึงแสร้งทำกลอุบายให้คนไปบอกขุนเครื่องมาเฝ้าที่เมืองฝาง แล้วใช้อ้ายเผียนเอาหน้าไม้ชุบยาพิษไปดักยิงเสียกลางทาง จึงเรียกที่แห่งนั้นว่า เวียงยิง (ปัจจุบันคือ บ้านทุ่งน้อย อำเภอพร้าว) แล้วทรงตั้งขุนครามให้อยู่ครองเมืองเชียงราย ต่อมาทรงยึดเมืองหริภุญชัยได้ในปี ๑๘๒๔ ก็ครองเมืองหริภุญชัยเป็นฐานทัพ ได้ ๒ ปีก็ย้ายไปสร้างเมืองใหม่อยู่ทางทิศอีสานของเมืองลำพูน อยู่ได้อีก ๓ ปีเห็นว่าสถานที่นั้นเป็นที่ลุ่ม ถึงฤดูฝนน้ำก็ท่วม พวกสัตว์พาหนะก็อยู่ลำบาก จึงย้ายเมืองไปอยู่ฝั่งแม่น้ำปิงเมื่อปี ๑๘๒๙ เรียกว่าเวียงกุ๋มก๋วม หมายถึงสร้างครอบแม่น้ำ เมืองนี้อยู่ที่ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ประทับอยู่เวียงกุ๋มก๋วมจนถึง พ.ศ.๑๘๓๕ ก็เสด็จล่าสัตว์ ณ เชิงดอยสุเทพ ไปพบทำเลที่เหมาะสม มีเทพนิมิตปรากฏ จึงไปสร้างเมืองใหม่ขึ้นที่นั่น พร้อมพระสหายคือ พระร่วงเจ้า กษัตริย์เมืองสุโขทัย และพ่อขุนงำเมือง กษัตริย์เมืองพะเยา เป็นที่ปรึกษา เมื่อปี ๑๘๓๕ จึงเกิดเมืองเชียงใหม่ขึ้นมาแต่บัดนั้น ดังความพิสดารที่ปรากฏในหนังสือตำนานเมืองเหนือ ซึ่งสงวน โชติสุขรัตน์ ได้รวบรวมเอกสารตำนานดั้งเดิมมาเรียบเรียงไว้ดังนี้

เมื่อพญามังราย ทรงทำสงครามแผ่ราชอาณาจักร เพื่อรวมไทยภาคเหนือเข้าด้วยกัน ขณะเดียวกัน พ่อขุนรามคำแหง ผู้เป็นพระสหายก็สถาปนาอาณาจักรสุโขทัยขึ้นทางภาคกลาง และมีอาณาเขตติดต่อกัน ทั้งสองพระองค์จึงมิได้รุกรานซึ่งกันและกัน ตรงกันข้ามกลับมีสัมพันธไมตรีอันดียิ่งต่อกัน หลังจากที่พระองค์ตีได้อาณาจักรหริภุญชัยจากพญายีบา เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๒๔ จึงครองเมืองหริภุญชัยอยู่ ๒ ปี ก็มอบเมืองให้อ้ายฟ้าคนสนิทครองเมืองต่อไป ส่วนพระองค์ได้สร้างเมืองใหม่อยู่ทางทิศอีสานของเมืองหริภุญชัย อยู่ได้ ๓ ปี เห็นว่าตำบลนั้นเป็นที่ลุ่ม น้ำมักท่วมในฤดูฝน หาที่พักอาศัยให้แก่พาหนะ แลสัตว์เลี้ยงลำบากนัก จึงได้ย้ายมาสร้างเมืองใหม่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำมิงค์ เมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๙ เรียกว่า “เวียงกุมกวม” (ภาษาเหนือออกเสียงเป็น กุ๋มก๋วม แปลว่าสร้างครอบแม่น้ำมิงค์) เมืองนี้ปัจจุบันอยู่ในท้องที่ของตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่

พระเจ้าเมงรายมหาราช ครองเมืองกุมกาม อยู่จนถึงพ.ศ.๑๘๓๔ วันหนึ่งพระองค์เสด็จประพาสล่าสัตว์ ไปทางทิศเหนือ ไปถึงเชิงดอยอ้อยช้าง (หรือดอยกาละ หรือดอยสุเทพ) ทรงประทับแรมอยู่ตำบลบ้านแหนได้ ๓ เพลา พระองค์ทรงทอดพระเนตร เห็นสถานที่ชัยภูมิตรงนั้นดีมาก เป็นทำเลที่เหมาะสำหรับการสร้างเมืองอยู่อาศัย และในราตรีนั้นพระองค์ทรงสุบินนิมิตว่า มีบุรุษผู้หนึ่ง (คือเทพยดาจำแลง) มาบอกกับพระองค์ว่า หากพระองค์มาสร้างเมืองอยู่ที่นั่น จะประสบความเจริญรุ่งเรืองยิ่งนัก เมื่อพระองค์ทรงตื่นจากสุบิน ทรงเห็นเป็นศุภนิมิต ก็มีความดีพระทัยเป็นอันมาก ทรงมีพระราชดำริที่จะสร้างเมืองขึ้น

หลังจากที่พระองค์กลับมายัง เวียงกุมกวมแล้ว ครั้นหมดฤดูฝน ฤดูทำนา พระองค์ก็เสด็จประพาสล่าสัตว์ พร้อมด้วยข้าราชการบริพารอีกครั้งหนึ่ง และคงไปล่าสัตว์ตามบริเวณดอยสุเทพตามเดิมคราวนี้ข้าราชบริพารที่ตามเสด็จ ไปพบที่แห่งหนึ่ง เป็นที่น่าอัศจรรย์มาก ที่นั่นเป็นป่าเลาป่าคา และภายนอกบริเวณป่าเลาป่าคานั้นเป็นที่ราบกว้างขวาง ภายในป่าเลาป่าคาซึ่งขึ้นเป็นวงโอบล้อมหญ้าแพรกและแห้วหมูนั้น มีฟานเผือก(เก้งเผือก) สองแม่ลูกอาศัยอยู่ในที่นั้น เมื่อฟานสองตัวออกหากิน สุนัขล่าเนื้อของพรานที่ตามเสด็จก็รุมกันขับไล่ ฟานทั้งสองก็วิ่งกลับเข้าไปในนั้นอีก และสุนัขก็ไม่อาจทำอันตรายได้ พวกพรานทั้งหลายเห็นเป็นอัศจรรย์ก็นำความไปกราบทูลให้พญามังรายทรงทราบ เมื่อพระองค์ทรงทราบเช่นนั้นก็เข้าพระทัยว่า สถานที่นั้นเหมาะสมที่จะสร้างเป็นเวียงสำหรับอยู่อาศัยต่อไป พระองค์จึงสั่งให้ข้าราชบริพารช่วยกันล้อมจับฟานทั้งสองแม่ลูกนั้น แล้วให้สร้างพะเนียงล้อมไว้ทางทิศเหนือริมน้ำแม่หยวก

เมื่อพระองค์เสด็จกลับเวียงกุมกวมแล้ว จึงเกณฑ์ไพร่บ้านพลเมืองไปยังสถานที่นั้น เพื่อจะสร้างเมืองใหม่และให้เอาที่ป่าเลาป่าคาที่ฟานสองแม่ลูกนั้นอาศัยอยู่เป็นที่ชัยภูมิสร้างเมือง และทำพิธีตั้งชัยภูมิเมืองขึ้นเมื่อ วันพฤหัสบดี เดือน๗ เหนือ (เดือน๕ใต้) ขึ้น ๘ ค่ำดิถี ๘ นาทีจันทรเสวยฤกษ์ ๗ ปุณณะสฤกษ์ ในราศีกรกฎ ยามแตรรุ่ง ๓ นาที เศษ ๒ บาท ไว้ลักขณาเมือง ในราศีมีน อาโปธาตุยามศักราชขึ้นเถลิงศกเป็นจุลศักราช ๖๕๔ ปีมะโรง จัตวาศก พ.ศ.๑๘๓๕

เมื่อตั้งชัยภูมิเมืองแล้ว พญามังรายก็ทรงโปรดให้สร้างพระราชนิเวศน์มณเฑียรขึ้นใหม่ และให้สร้างบ้านเรือนให้ข้าราชบริพารอยู่แวดล้อมเป็นอันมาก เวียงเล็กที่พญามังรายทรงสร้างที่อยู่อาศัย เพื่อสร้างเมืองเชียงใหม่คือ ”เวียงเล็ก” (บริเวณวัดเชียงมั่นตรงที่สร้างเจดีย์ไว้นั้น เป็นหอบรรทมของพญามังราย) แล้วพระองค์ได้ให้กรุยเขตที่จะขุดคูเมือง และก่อกำแพงเมืองโดยกำหนดเอาที่ชัยภูมินั้นเป็นจุดศูนย์กลาง แล้ววัดจากศูนย์กลางด้านละ ๑,๐๐๐ วา เป็นขนาดกำแพงเมือง เมื่อกรุยทางไว้เรียบร้อยแล้ว พระองค์มารำพึงอยู่ว่า การที่พระองค์จะสร้างเมืองขึ้นครั้งนี้เป็นงานใหญ่มากควรที่ชวนพระสหายทั้งสองคือ พญางำเมืองเจ้าเมืองพะเยา และพญาร่วงเจ้าเมืองสุโขทัย ซึ่งเคยร่วมสาบานเป็นพันธมิตรกันนั้นมาปรึกษาหารือช่วยคิดการสร้างเมืองจะดีกว่า ทรงดำริเช่นนั้นแล้วพระองค์จึงแต่งตั้งให้ราชบุรุษถือพระราชสาส์น ไปทูลเชิญพระสหายทั้งสองนั้นมายังเวียงมั่น ซึ่งทำให้การสร้างเมืองหยุดชะงักไปวาระหนึ่ง เป็นเวลา ๓ ปีเศษ อาจเป็นเพราะพระสหายทั้งสองไม่มีเวลาที่จะเสด็จมายังเมืองใหม่ และอีกประการหนึ่ง ในระหว่างนี้มีข่าวว่า พญายีบาเจ้าลำพูนที่แตกหนีไปอาศัยอยู่กับพญาเบิกผู้บุตร (บางแห่งว่าน้อง) จะยกทัพมาตีเมืองลำพูนคืน และจะยกมาตีเมืองกุมกวมของพญามังรายด้วย พญามังรายต้องเตรียมรับศึก ซึ่งการยุทธครั้งนี้ เกิดขึ้นในเดือน ๔ เหนือก่อนการสร้างเมืองเชียงใหม่ ๔ เดือน เป็นการยุทธครั้งใหญ่ยิ่งในรัชสมัยสองพระองค์เมื่อกษัตริย์ทั้งสามพร้อมเพรียงกันแล้ว ก็ปรึกษาหารือกันถึงการวางแผนผังสร้างเมือง พญามังรายมีความเห็นว่า จะสร้างกำแพงเมืองวัดจากชัยภูมิอันเป็นศูนย์กลางออกไปด้านละ ๑,๐๐๐ วาเป็นตัวเมืองกว้าง ๒,๐๐๐ วา หรือ๑๐๐เส้น

พญางำเมือง ประมุขแห่งอาณาจักรพะเยาเห็นชอบด้วย แต่พญาร่วงมีความเห็นว่า“การที่จะสร้างเมืองกว้างขวางเช่นนั้น หากในเวลาไม่มีศึกสงคราม ก็ไม่เป็นที่น่าวิตกอย่างใด หากแต่ว่าเกิดศึกมาประชิดติดเมืองแล้วการป้องกันบ้านเมืองจะลำบากมาก เพราะตัวเมืองกว้างขวางเกินไป ควรที่วัดจากชัยภูมิเมืองไปด้วนละ ๕๐๐ วา เป็นเมืองกว้าง ๑,๐๐๐ วา จะดีกว่าซึ่งถ้าหากจะมีข้าศึกมาเบียดเบียนก็ไม่เป็นการยากลำบากในการป้องกัน และหากว่าในการข้างหน้า บ้านเมืองเจริญขึ้น ก็ย่อมขยายตัวเมืองออกไปได้ตามกาลเวลา”

เมื่อได้ยินพระสหายออกความเห็นเช่นนั้น พญามังรายก็ทรงดัดแปลงผังเมืองใหม่ โดยให้มีด้านยาวเพียง ๑,๐๐๐ วาดังเดิม และให้มีด้านกว้างวัดจากหลักชัยภูมิไปเพียง ๔๐๐ วาเป็นกว้าง ๘๐๐ วา เป็นรูปสี่เหลียมผืนผ้า ซึ่งพระสหายทั้งสองก็เห็นชอบด้วย

ดังนั้นพญามังรายจึงเชิญชวนพระสหายทั้งสองออกไปยังชัยภูมิ เพื่อตรวจดูทำเลสถานที่ๆจะสร้างพระราชนิเวศน์มณเฑียรถาวรใหม่ เมื่อกษัตริย์ทั้งสามไปถึงสถานที่แห่งนั้น ก็ปรากฏศุภนิมิตให้เห็นคือ มีหนูเผือกตัวใหญ่เท่าดุมเกวียน มีบริวาร ๔ ตัวก็วิ่งออกจากชัยภูมิที่นั้น ไปทางทิศตะวันออกก่อน แล้วบ่ายหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ไปลงรูแห่งหนึ่งที่ใต้ต้นนิโครธ(ต้นไม้ลุง) กษัตริย์ทั้งสามเห็นเป็นนิมิตอันดีเช่นนั้น ก็จัดแต่งดอกไม้ธูปเทียนไปสักการบูชาที่ต้นนิโครธนั้น (ต้นไม้ต้นนี้ถูกทำลายไปในรัชสมัย พระเจ้าติโลกมหาราชพระองค์ทรงให้ขุดขึ้นเพื่อสร้างพระราชนิเวศน์มณเฑียรใหม่) แล้วให้จัดสร้างรั้วไม้ล้อมรอบไม้นั้นจึงถือว่าเป็นไม้เสื้อเมืองหรือศรีเมืองสืบมา
แก้ไขล่าสุดโดย Namfar เมื่อ อังคาร 25 เม.ย. 2017 8:25 am, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: ประวัติศาสตร์ล้านนา

โพสต์โดย Namfar » จันทร์ 24 เม.ย. 2017 3:34 pm

KC05.jpg
KC05.jpg (26.57 KiB) เปิดดู 10586 ครั้ง


แล้วทั้งสามกษัตริย์ ก็ให้บุกเบิกแล้วแผ้วถางบริเวณ ที่จะสร้างเป็นเมือง แล้วขึงเชื่อกระดับดู ปรากฏว่าพื้นที่นั้นลาดไปทางทิศตะวันออกเป็นการต้องกับลักษณะชัยภูมิที่จะสร้างเป็นนครยิ่งนัก เมื่อพญาร่วงและพญางำเมืองทรงเห็นดังนั้น ก็กล่าวแก่พญามังรายว่า ทำเลที่จะสร้างเมืองนี้ถูกต้องด้วยหลักชัยภูมิ ๗ ประการคือ

๑. มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า เคยมีกวางเผือกสองตัวแม่ลูกเคยมาอาศัยอยู่ที่นี้ และมีคนพากันมาสักการบูชาเป็นอันมาก

๒. มีฟาน(เก้ง) เผือกสองแม่ลูกมาอาศัย และได้ต่อสู้กับฝูงสุนัขของพราน ซึ่งตามเสด็จพญามังรายมาดังกล่าวแล้ว

๓. ได้เห็นหนูเผือกพร้อมด้วยบริวาร ๔ ตัว วิ่งเข้าโคนต้นไม้นิโครธ(ไม้ลุง)

๔. พื้นที่สูงทางทิศตะวันตก เอียงลาดไปทางทิศตะวันออกเป็นทำเลต้องด้วยลักษณะพื้นที่ที่จะสร้างเมือง

๕. มีน้ำตกไหลจากดอยสุเทพ โอบล้อมตัวเมืองไว้เป็นการสะดวกในการที่ชาวเมืองจะได้ใช้สอยบริโภค

๖. มีหนองน้ำใหญ่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ของตัวเมืองปรากฏว่า เคยเป็นที่เคารพสักการะของท้าวพระยาเมืองต่างๆมาแล้วและขณะนั้นก็ยังเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนอยู่ (หนองนี้ เรียกว่า หนองบัว อยู่ตรงสนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ ต่อมาในสมัยเจ้าอินทวิชยานนท์ ทรงใช้ขุดระบายน้ำลงแม่น้ำปิงเสียจึงตื้นเขินไป)

๗. แม่น้ำระมิงค์(หรือแม่น้ำปิง) ซึ่งเป็นแม่น้ำที่เกิดจากเทือกเขาผีปันน้ำ ซึ่งบนเทือกเขานั้นมีเขาลูกหนึ่งอยู่บนหลังเขาเชียงดาวชื่อว่า “ดอยอ่างสลุง” (ชาวเมืองเรียกว่าอ่างสะหลง) ซึ่งถือว่าเป็นที่สรงน้ำของพระพุทธเจ้า ไหลผ่านตัวเมือง นับว่าเป็นมงคลแก่บ้านเมืองอีกประการหนึ่งด้วย

ซึ่งชัยภูมิทั้ง ๗ ประการนี้หายากยิ่งที่จะสร้างเป็นพระนคร พญามังราย เชื่อว่าสิ่งมงคลทั้ง ๗ ประการนี้จะเป็นผลดีต่อการสร้างเมืองเชียงใหม่ ซึ่งจะนำมาสู่ความเจริญรุ่งเรืองและความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมือง ซึ่งหลักชัยมงคล ๗ ประการนี้ ได้ปรากฏอยู่ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ดังนี้

“ ...อันแต่ก่อนเราได้ยินสืบมาว่ากวางเผือกสองตัวแม่ลูกลุกแต่ป่าใหญ่หนเหนือมาอยู่ชัยภูมิที่นี้ คนทั้งหลายย่อมกระทำบุชาเป็นชัยมงคลปฐมก่อนแล อันหนึ่งว่าฟานเผือกสองตัวแม่ลูกมาอยู่ชัยภูมิที่นี้รบหมา หมาทั้งหลายพ่ายหนีบ่อาจจัดตั้งได้สักตัว เป็นชัยมงคลถ้วนสอง อันหนึ่งเล่าเราทั้งหลายได้หันหนูเผือกกับบริวาร ๔ ตัว ออกมาแต่ชัยภูมิที่นี้ เป็นชัยภูมิถ้วนสาม อันหนึ่งภูมิฐานที่เราจัดตั้งเวียงนี้ สูงวันตกหลิ่งมาออก เป็นชัยภูมิถ้วนสี่ อันหนึ่งอยู่ที่นี้ หันน้ำตกแต่อุชอปัตตาดอยสุเทพ มาเป็นแม่น้ำไหลขึ้นหนเหนือ แล้วไหลดะไปหนวันออกแล้วไหลไปใต้ แล้วไหลไปวันตกเกี้ยวเวียงกุมกาม แม่น้ำนี้เป็นนครคุณเกี้ยวเมือง อันเป็นชัยมงคลถ้วนห้า แม่น้ำนี้ไหลแต่ดอยมาที่ขุนน้ำ ได้ชื่อว่าแม่ข่า ไหลเมื่อวันออกแล้วไหลไปใต้เทียบข้างแม่น้ำปิง ได้ชื่อว่าแม่โถต่อเท่าบัดนี้แล อันหนึ่งหนองใหญ่มีวันออกเฉียงเหนือแห่งชัยภูมิ ได้ชื่อว่าอิสาเนราชบุรี ว่าหนองใหญ่หนอิสานท้าวพระยาต่างประเทศจักมาบูชาสักการะมากนัก เป็นชัยมงคลถ้วนหกแล อันหนึ่งน้ำระมิงค์ไหลมาแต่อ่างสรงอันพระพุทธเจ้า เมื่อยังทรมาน ได้มาอาบในดอยอ่างสรง ไหลมาออกเป็นขุนน้ำแม่ระมิงค์ ภายวันออกเวียง เป็นชัยมงคลถ้วนเจ็ดแล...”

พญามังราย ได้ยินพระสหายกล่าวว่าบริเวณที่ตั้งเมืองเชียงใหม่ถูกต้องตามหลักชัยมงคลก็ทรงโสมนัสยินดีเป็นที่ยิ่ง ทรงชมเชยว่าพระสหายทั้งสองเป็นผู้มีสติปัญญาลึกซึ้งยิ่งนัก เมื่อตกลงเป็นที่แน่นอนแล้ว ทั้งสามกษัตริย์ก็ช่วยกันอำนวยการสร้างเมือง ก่อนสร้างได้เริ่มทำพิธีบวงสรวงเทพดาอารักษ์เสียก่อน เมื่อทำพิธีพลีกรรมบวงสรวงเรียบร้อยแล้ว ก็ให้แบ่งพลเมืองออกเป็น ๒ พวกพวกหนึ่งจำนวน ๕ หมื่นคน ช่วยกันก่อสร้างพระราชนิเวศน์มณเฑียรสถาน อีกพวกหนึ่งจำนวน ๔ หมื่นคนช่วยกันขุดคูเมือง และก่อกำแพงเมือง รวมใช้กำลังคนในการสร้างเมืองเชียงใหม่ ๙ หมื่นคน การขุดคูเมืองนั้นให้ขุดทางทิศอิสาน (ตะวันออกเฉียงเหนือ) ก่อน คือเริ่มที่แจ่งศรีภูมิอันเป็นศรีพระนครก่อน แล้วโอบล้อมไปทางทิศใต้แล้ววงรอบให้บรรจบกันทั้ง ๔ ด้าน การสร้างได้ทำพร้อมๆกันเลยทีเดียว และในวันเดียวกันนี้ก็ได้ ทำพิธีฝังเสาหลักเมือง ในวันพฤหัสบดี เดือนแปดเหนือ (เดือน ๖ ใต้) ปีวอกอัฐศก จุลศักราช ๖๕๗ (พ.ศ. ๑๘๓๕) ก่อนการทำพิธีขุดคูเมืองและสร้างพระราชนิเวศน์มณเฑียรสถาน

การสร้างเมืองเชียงใหม่ใช้เวลาทั้งหมด ๔ เดือน ก็สำเร็จเรียบร้อย พญามังรายจึงโปรดให้จัดงาน ฉลองสมโภชเมืองใหม่อย่างสนุกสนานเป็นการใหญ่ยิ่ง เป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน ได้เลี้ยงดูไพร่บ้าน พลเมือง และแจกจ่ายของรางวัลให้ทั่วหน้า แล้วทั้งสามกษัตริย์ก็ร่วมใจกันขนานนามเมืองใหม่ว่า “เมืองนพบุรี ศรีนครพิงค์ เชียงใหม่”

เมืองเชียงใหม่ตั้งอยู่บนที่ราบระหว่างดอยสุเทพกับแม่น้ำปิง ตัวเมืองอยู่ห่างจากแม่น้ำปิงประมาณ ๑ กิโลเมตร ผังเมืองเชียงใหม่มีลักษณะคล้ายกันกับผังเมืองสุโขทัย ตัวเมือง มีกำแพงล้อมรอบทั้งสี่ด้าน มีประตู ๕ ประตู ภายในกำแพงเมืองมีสิ่งปลูกสร้างหลายประเภท เช่น พระราชวัง หอคำ บ้านเรือนราษฎร วัด ตลาด สนามหลวงกลางเมือง (ข่วงหลวง) หอสังเกตการณ์ (หอหลิงหอเลอ) หอกลอง เป็นต้น

เมืองเชียงใหม่มีแม่น้ำไหลผ่าน ๓ สาย คือ แม่น้ำปิง ห้วยแก้ว และแม่น้ำข่า พญามังรายทรงใช้น้ำจากห้วยแก้วเข้ามาใส่คูเมืองทั้งสี่ด้าน แม่น้ำข่าช่วยระบายน้ำออกจากคูเมือง และเมื่อมีการสร้างคูเมืองชั้นนอกก็ได้ใช้แม่น้ำข่าเป็นคูเมือง

แหล่งน้ำธรรมชาตินอกกำแพงเมืองที่แจ่งศรีภูมิมีหนองน้ำใหญ่เรียกว่า หนองบัวเจ็ดกอ พญามังรายทรงใช้เป็นหนองสาธารณะ สำหรับเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ยังมีหนองเส้ง อยู่บริเวณโรงพยาบาลแมคคอร์มิค หนองหอย อยู่ทางใต้ของตัวเมือง และหนองผาแตบ ซึ่งปัจจุบันไม่ทราบว่าอยู่ที่ใด

ในกำแพงเมืองเป็นบริเวณที่ใช้อยู่อาศัย พื้นที่การเกษตร คือ นา และสวนจะอยู่นอกเมืองด้านเหนือด้านตะวันออก และด้านใต้ ชาวล้านนาถือว่าลักษณะสัณฐานของเมือง และหมู่บ้านว่าเหมือนกับร่างกายของคน คือมีส่วนหัวเรียกว่าหัวเวียง ส่วนลำตัวมีสะดือเมือง หรือใจเมือง เป็นศูนย์กลาง และมีเท้าอยู่ล่างสุดเรียกว่า ตีนเวียง หรือหางเวียง

จากการศึกษาตำนาน และภาพถ่ายทางอากาศพบว่ามีเมืองหลายเมืองตั้งอยู่รอบเมืองเชียงใหม่ได้แก่ เวียงนพบุรี เวียงสวนดอก หรือเวียงสวนดอกไม้ เวียงเจ็ดลิน เวียงรั้วน่าง และเชียงโฉม ยังมีแนวกำแพงเจดีย์ และพระพุทธรูปเหลืออยู่

เวียงสวนดอก ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของตัวเมืองเชียงใหม่ อยู่ห่างจากตัวเมืองออกไปประมาณ ๑ กิโลเมตร มีวัดสวนดอกเป็นศูนย์กลางเวียง ปัจจุบันยังมีแนวกำแพงเมือง และคูเมืองบางส่วนเหลืออยู่ ผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยม ตามตำนานเขียนว่าเป็นเวียงลัวะ

เวียงเจ็ดลิน ตั้งอยู่บนดอยเจ็ดลินหรือดอยลัวะ ปัจจุบันพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ตั้งสถาบันราชมงคลพายัพ มีถนนห้วยแก้วตัดผ่านกลางตัวเวียง ตามตำนานกล่าวว่า เวียงเจ็ดลินเป็นเวียงลัวะ เช่นเดียวกับเวียงสวนดอก ผังเมืองมีลักษณะเป็นวงกลม เหมือนกับเมืองเชียงตุง

เวียงรั้วน่างหรือน่างรั้ว ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประตูเมืองเชียงใหม่ ด้านในของกำแพงเมืองชั้นนอก (กำแพงดิน) ปัจจุบันอยู่ใกล้กับวิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่

เชียงโฉม ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองเชียงใหม่ด้านเหนือ ห่างจากประตูช้างเผือกออกไปประมาณ ๒ กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่บริเวณสถาบันราชภัฏเชียงใหม่ มีวัดร้างและซากเจดีย์เหลืออยู่ ชาวบ้านเรียกเจดีย์ปล่อง

ตอนที่ ๒ เชียงใหม่เสียเมือง

พญามังรายครองเมืองเชียงใหม่ต่อมาจนกระทั่งพ.ศ. ๑๘๖๐ ทรงพระชนมายุได้ ๗๙ พรรษา (บางแห่งว่า ๘๐ พรรษา) วันหนึ่งพระองค์เสด็จไปประพาสตลาดกลางเวียง เกิดอัสนีบาตรสวรรคต เชื่อกันว่ามาจากการที่พระองค์ผิดคำสาบานที่มีต่อพระนางอั้วเวียงชัยพระมเหสี บริเวณนั้นมีต้นโพธิ์ใหญ่ขนาด ๔-๕ คนอ้อมอยู่ต้นหนึ่ง ต่อมาได้สร้างหอเรียกว่า หอมังราย เอาไว้ ปัจจุบันหอมังรายได้ถูกย้ายไปไว้หลังต้นโพธิ์ ข้างร้านตัดเสื้อ ถนนปกเกล้าห่างจากที่เดิมประมาณ ๑๐๐ เมตรเศษ) รวมเวลาที่พระองค์ครองเมืองเชียงใหม่ ๒๑ ปี เป็นกษัตริย์ครองอาณาจักรลานนาไทย ๕๘ ปี

กษัตริย์เชื้อสายของพระองค์ได้ครองเมืองเชียงใหม่ เป็นราชธานีต่อมาอีกหลายชั่วคน แต่บางองค์ก็ย้ายราชธานีไปตั้งอยู่ที่เมืองเชียงรายและเชียงแสน เชียงใหม่เป็นอิสระอยู่ได้ ๒๖๒ ปีถึงพ.ศ. ๒๑๐๑ ในรัชกาลของพระเจ้าเมกุฎิวิสุทธิวงศ์หรือชาวเมืองเรียกว่าเจ้าแม่กุเพราะเป็นชาวไทยใหญ่สืบเชื้อสายมาจากเจ้าขุนคราม ราชโอรสของพญามังราย สำเนียงชาวไทยใหญ่แปร่ง จึงขนานพระนามเพี้ยนเป็น “เจ้าแม่กุ”พระเจ้าเมกุฎฯพยายามจะกู้เอกราชในปีพ.ศ. ๒๑๐๗ แต่ไม่สำเร็จ พระเจ้าบุเรงนองได้ยกกองทัพมาปราบ และจับพระองค์ไปกักไว้ที่กรุงหงสาวดีจนถึงแก่ทิวงคต

ครั้งนั้นในปี พ.ศ.๒๑๐๑ ตำนานพื้นเมืองลานนาเชียงใหม่บันทึกว่า พระเจ้าบุเรงนองยกกองทัพมาโจมตีเมืองเชียงใหม่ โดยจัดทัพเจ้าประเทศราชไทใหญ่ ๑๙ พระองค์ โดยมี เจ้าฟ้าสุทโธธัมมิกราชยกพล ๙๐,๐๐๐ คน ข้ามแม่น้ำสาละวินที่ "ท่าผาแดง"แล้วจัดกองทัพออกเป็น ๓ ทัพ

ทัพที่ ๑ ไปทางเมืองปาย(อ.ปาย แม่ฮ่องสอน)

ทัพที่ ๒ ไปทางเมืองแหง(อ.เวียงแหง เชียงใหม่)

ทัพที่ ๓ ไปทางเมืองเชียงดาว (อ.เชียงดาว เชียงใหม่)

โดยกำชับคาดโทษให้แม่ทัพเคลื่อนกำลังพลให้เดินทางมาถึงเมืองเชียงใหม่ ในวันเดียวกันให้จงได้(เพื่อสนธิกำลังต่อสู้เมืองเชียงใหม่) หากแม่ทัพคนใดมาไม่ทันเพื่อน รับสั่งให้ตัดศีรษะแม่ทัพคนนั้น แล้วเสียบประจานที่เกาะแม่น้ำคงคา(สาละวิน)

ในที่สุดทั้ง ๓ กองทัพก็เคลื่อนพลมาถึงเมืองเชียงใหม่ในวันเดียวกัน จากนั้นทำการสนธิกำลังรายล้อมเมืองเชียงใหม่และได้เชียงใหม่เป็นเมืองขึ้นในปี พ.ศ.๒๑๐๑ ตรงกับรัชสมัยพระแม่เจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์รวมเวลาที่ล้อมเมืองเชียงใหม่ไว้ได้ ๓ วัน อาณาจักรล้านนาแตกล่มสลายตกเป็นเมืองขึ้นของพระเจ้าบุเรงนอง และผู้สืบทอดราชบัลลังก์ อย่างยาวนาน กว่า ๒๐๐ ปีเศษ(พ.ศ.๒๑๐๑ - ๒๓๑๗)


.....ฟ้าสุทโธธัมมิกราช ก็คุมเอารี้พลสกุลโยธาได้ ๙ หมื่นแล โป่(แม่ทัพ)ทั้งหลายคือว่า ๑๙ เจ้าฟ้า เขาก็เร่งรัดจัดกันมาเร็ววันเร็วคืน ก็มาข้ามท่าป่าแดง(ท่าผาแดง) มาทัง(ทางเมืองปายสายหนึ่ง มาทังเมืองหอด(เมืองแหง-คัดลอกคลาดเคลื่อน)สายหนึ่ง มาทังเมืองเชียงดาวสายหนึ่ง กษัตริย์เจ้าอังวะ(บุเรงนอง)คาดเอาคำ(คาดโทษ)โป่ทับ(แม่ทัพ)ทั้งหลายหื้อได้แผว(ถึง)เวียงลานนาเชียงใหม่วันเดียวนั้นแท้ คันว่า(ครั้นว่า)โป่ไม่ทันหมู่นั้น จักเอามาจ้องหัวมันเสีย(ตัดศีรษะเสียบประจาน)ที่เกาะแม่คงคา(แม่น้ำสาละวิน) บ่หื้อได้ล้ำมาชะแล(ไม่ให้ข้ามเขตแดนเข้ามาได้)เขาก็กลัวอาชญาเจ้าแห่งเขา ก็ผัดกับด้วยกันมาแผววันเดียวกันแท้ ยามนั้นข้าเสิกก็มากู่หมู่ก็ปายกู่ทาง แผวเวียงเชียงใหม่ เขาก็ตั้งจอดทับแวดล้อมเวียงไคว่แลว(ล้อมรอบเวียงเชียงใหม่) ทัพหลวงฟ้าสุทโทธัมมิกราชอันเป็นโป่แม่ทัพใหญ่นั้น ก็ไปตั้งทับอยู่ก้ำเหนือเวียงบ่พอไกลเท่าใด(ด้านเหนือเมืองเชียงใหม่) เขาก็ขุดกระตูกอยู่หื้อดีแล้ว....


จากนั้นพม่าได้ตั้งให้พระนางวิสุทธิเทวี (อาจจะเป็นคนเดียวกับพระนางจิรประภา ราชนิดาของพระเมืองเกษเกล้าซึ่งเคยรั้งเมืองเชียงใหม่ เมื่อพ.ศ. ๒๐๘๘) ครองเมืองเชียงใหม่ได้อีก ๑๔ ปี พระนางก็ทิวงคต ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๑๒๒ พระเจ้าหงสาวดี (บุเรงนอง) จึงให้เจ้าฟ้าสารวดีหรือมังซานรธามังคุยหรือ มังนรธาฉ่อ ราชบุตร มาครองเมืองเชียงใหม่ นับว่าสิ้นราชวงศ์มังรายอย่างเด็ดขาดแต่นั้นมา เชื้อสายของพระเจ้าหงสาวดีได้ครองเมืองเชียงใหม่ต่อมาอีก ๓ องค์ ก็สิ้นวงศ์ ในสมัยที่เจ้าฟ้าสารวดี หรือพระเจ้าเชียงใหม่มังซานรธามังคุยครองเมืองเชียงใหม่นี้ ตรงกับในรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระเจ้าเชียงใหม่ได้ยอมสวามิภักดิ์ ต่อกรุงศรีอยุธยาจนตลอดรัชกาลของพระองค์

เมื่อสิ้นวงศ์บุเรงนองแล้ว ก็มีกษัตริย์เจ้าเมืองน่านมาครองเมืองเชียงใหม่ มีพระนามว่าพระเจ้าเชียงใหม่ศรีสองเมือง หรือ เจ้าพระยาพลศึกซ้ายชัยสงครามทรงแข็งเมืองเป็นอิสรภาพ ไม่ยอมขึ้นต่อพม่า แต่เมื่อพระเจ้าสุทโธธรรมราชากษัตริย์พม่า ยกกองทัพมาปราบในปี พ.ศ. ๒๑๗๔ ตีเชียงใหม่แตกและจับตัวพระเจ้าเชียงใหม่ไปขังไว้ที่เมืองหงสาวดีจนทิวงคต เชียงใหม่ก็ได้ตกอยู่ในอำนาจของพม่าอีกครั้งหนึ่ง พม่าได้ตั้งให้พระยาหลวงทิพยเนตร เจ้าเมืองฝางมาครองเชียงใหม่ เมื่อหลวงทิพยเนตรถึงแก่กรรม บุตรชื่อพระแสนเมือง หรือทางพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเรียกพญาแสนหลวงได้ครองเมืองแทนในปี พ.ศ. ๒๒๐๔ แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงยกกองทัพหลวงมาตีเมืองเชียงใหม่ โดยให้เจ้าพระยาโกษา(เหล็ก) เป็นแม่ทัพหน้า ตีเมืองเชียงใหม่ได้ สมเด็จพระนารายณ์ทรงได้ธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่เป็นบาทบริจาริกา และเมื่อนางนั้นทรงครรภ์ขึ้น พระองค์ทรงมีความละอาย จึงยกนางนั้นให้แก่พระเทพราชา เจ้ากรมช้าง ต่อมานางนั้นประสูติกุมาร ซึ่งต่อมาคือ ขุนหลวงสรศักดิ์ หรือพระพุทธเจ้าเสือ มีนามเดิมว่า เดื่อ สมเด็จพระนารายณ์ทรงตีได้เมืองเชียงใหม่ แต่ไม่ได้มอบให้ผู้ใดครองเมืองเพราะอยู่ห่างไกลกันมาก ยากแก่การป้องกันรักษา และพม่าก็อาจจะยกมาตีเอาคืนเมื่อไรก็ได้ จึงกวาดต้อนครอบครัวชาวเมืองไป และจับตัวพระเยาวราชกวีเอกของเมืองเชียงใหม่ไปด้วยผู้หนึ่ง พระเยาวราชผู้นี้ได้เคยประคารมกวีกับศรีปราชญ์ยอดกวีในยุคนั้นเป็นที่น่าเสียดายที่ไม่อาจทราบได้ว่าพระเยาวราชผู้นี้คือใคร เพราะในตำนานพื้นเมืองไม่ได้กล่าวถึงเลย นอกจากในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเท่านั้น

นับแต่พ.ศ. ๒๒๑๑ เป็นต้นมา พม่าได้เริ่มยกกองทัพมาตีหัวเมืองต่างๆ ในลานนาไทยโดยเริ่มตีหัวเมืองชายแดนก่อน และตีได้เชียงรายเชียงแสน เมื่อตีได้เมืองใด ก็จัดแต่งผู้คนปกครองไว้ ส่วนเมืองเชียงใหม่ยังคงล้มลุกคลุกคลานอยู่ บางครั้งพม่าก็เข้าปกครองแต่ถูกชาวเมืองขับไล่ เกิดการจลาจลอยู่เสมอ ไม่เป็นปกติสุข ชาวเมืองต้องได้รับความเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า หลังจากที่เจ้าองค์นกได้เอกราชและครองเมืองโดยอิสระสืบมาถึงพ.ศ. ๒๓๐๔ เจ้าองค์นกสิ้นพระชนม์แล้วเจ้าจันทร์ราชบุตรได้ครองเมือง แต่เจ้าปัดอนุชาคิดกบฏชิงเอาราชสมบัติได้ แต่ไม่ครองเมืองเอง ยกให้เจ้าอธิการวัดดวงดี ลาสิกขาบทมาครองเมือง ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๓๐๖ กองทัพพม่ายกมา ๙ ทัพมีโป่อภัยคามินีเป็นแม่ทัพยกมาตีเมืองเชียงใหม่ ลำพูน พม่ากวาดต้อนเครือญาติวงศ์เจ้าองค์นก และชาวเมืองเชียงใหม่ส่งไปเมืองอังวะเป็นอันมาก และโป่อภัยคามินีก็ยกเข้าตั้งรักษาเมืองเชียงใหม่ไว้
แก้ไขล่าสุดโดย Namfar เมื่อ อาทิตย์ 30 เม.ย. 2017 9:48 am, แก้ไขแล้ว 5 ครั้ง.
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: ประวัติศาสตร์ล้านนา

โพสต์โดย Namfar » จันทร์ 24 เม.ย. 2017 3:36 pm

พระสิงห์.jpg
พระสิงห์.jpg (84.46 KiB) เปิดดู 10586 ครั้ง


พม่าได้เข้ายึดครองเมืองเชียงใหม่ ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๓๑๒ โป่อภัยคามินีถึงแก่กรรม พม่าจึงให้โป่มะยิหวุ่น(พม่าเรียกแมงแงคามินี หรือสะโดเมงเตง) หรือที่ชาวเมืองเชียงใหม่เรียกกันว่าโป่หัวขาวเพราะชอบใช้ผ้าขาวโพกศีรษะเสมอมาเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ โป่หัวขาวผู้นี้ชอบกดขี่ข่มเหงชาวเมืองมาก และเกิดทะเลาะวิวาทกับขุนนางชาวเมือง ถึงกับเกิดการสู้รบกันกลางเวียงเชียงใหม่หลายครั้ง ขุนนางชาวเมืองส่วนมากไม่นิยมชมชอบ พม่าจึงสั่งให้โป่สุพลามาควบคุมอีกคนหนึ่ง ในยุคนี้ลานนาไทยมีคนดีเกิดขึ้น เช่น พระเจ้ากาวิละ และพระยาจ่าบ้าน(บุญมา)ผู้เป็นน้าชาย จึงได้คบคิดกันกู้อิสรภาพ นำทัพของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เข้าตีเมืองเชียงใหม่จากพม่าได้ในปีพ.ศ. ๒๓๑๗ พม่าที่ครองเมืองเชียงใหม่หนีออกไปตั้งอยู่เมืองเชียงแสน ซึ่งต่อมาถูกกองทัพ กรุงเทพฯ และกองทัพเชียงใหม่ตีแตกในปี พ.ศ. ๒๓๔๗ แต่นั้นมาพม่าก็สิ้นอำนาจในแว่นแคว้นลานนาไทยโดยสิ้นเชิง

ในระหว่างพ.ศ. ๒๓๑๗-๒๓๔๗ พม่าพยายามจะตีเอาเมืองเชียงใหม่คืนหลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ เพราะชาวเมืองเชียงใหม่ต่อสู้ป้องกันบ้านเมืองอย่างแข็งแรง และมีกองทัพกรุงคอยช่วยเหลือ พม่าจึงเป็นฝ่ายปราชัยล่าถอยไปอย่างยับเยินทุกครั้ง เพราะพม่ายกกองทัพมารบกวนอยู่บ่อยๆนี้เองทำให้เมืองเชียงใหม่กลายเป็นเมืองร้างไปชั่ววาระหนึ่ง เพราะกองทัพที่ตั้งรักษาเมืองอยู่นั้นขาดแคลนเสบียงอาหาร ปรากฎว่าในการสู้รบครั้งนี้ชาวเมืองอดอยากถึงกับจับพม่าฆ่ากินเป็นอาหาร ชาวเมืองไม่มีเวลาที่จะทำมาหากิน เพราะต้องเตรียมรับมือกับพม่า ซึ่งอาจจะยกมาเวลาใดก็ได้ และกองทัพพม่าที่ยกมามักจะมีกำลังเหนือกว่าทุกครั้ง แต่ชาวเมืองเชียงใหม่ก็ต่อสู้อย่างทรหดอดทน ทุกคนยอมพลีชีวิตดีกว่าจะอยู่ใต้อำนาจของต่างชาติอีก แต่ด้วยความจำเป็นที่บ้านเมืองชำรุดทรุดโทรม ป้อมคูประตูหอรบปรักหักพังลง จนใช้การไม่ได้เพราะต้องรับศึกหลายต่อหลายครั้ง ครั้นจะบูรณปฏิสังขรณ์ก็ไม่มีเวลาพอเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่คนแรกคือ พระยาจ่าบ้าน(บุญมา) และพระเจ้ากาวิละ ซึ่งได้ครองเมืองเชียงใหม่ต่อมา ก็ได้ย้ายไปตั้งอยู่ที่เวียงป่าซาง ก็ล่าถอยได้ง่าย เมืองเชียงใหม่ได้เป็นเมืองร้างอยู่ ๒๐ ปีเศษ จนถึงพ.ศ. ๒๓๓๙ ตรงกับในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ พระเจ้ากาวิละพระเจ้าผู้ครองนครเมืองเชียงใหม่ จึงยกเข้ามาตั้งเมืองเชียงใหม่อีกครั้งหนึ่งและได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์บ้านเมืองวัดวาอารามซึ่งรกร้างปรักหักพังไปนั้นขึ้นใหม่ จนเจริญรุ่งเรืองสืบมาจนทุกวันนี้

เชื้อสายของพระเจ้าบรมราชาธิบดี หรือพระเจ้ากาวิละ ได้เป็นพระเจ้าผู้ครองนคร และเจ้าผู้ครองนครสืบมา จนถึงเจ้าแก้วนวรัฐฯ นับเป็นเจ้าผู้ครองนครองค์ที่ ๙ และเป็นองค์สุดท้ายประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตยในพ.ศ. ๒๔๗๕ ทางราชการได้ประกาศให้ยกเลิก ตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครเสีย

นับแต่พระเจ้ากาวิละสืบมา เมืองเชียงใหม่และหัวเมืองต่างๆ ในแว่นแคว้นลานนาไทยได้ขึ้นต่อกรุงเทพพระมหานคร และมีฐานะเปรียบเสมือนประเทศราช ถวายดอกไม้เงินดอกไม้ทอง และเครื่องราชบรรณาการต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครั้นในปีพ.ศ. ๒๔๑๗ ในสมัยพระอินทวิทชยานนท์ฯ โปรดเกล้าฯ ให้พระนรินทรราชเสนี(พุ่มต่อมาเป็นเจ้าพระยารัตนาธิเบศร) มาเป็นข้าหลวงประจำจังหวัดเชียงใหม่

พ.ศ. ๒๔๓๙ ทางราชการได้จัดการปกครองแบบ มณฑลเทศาภิบาล โปรดให้รวมหัวเมืองต่างๆในปริมณฑลของเมืองเชียงใหม่ เข้าด้วยกัน เรียกว่ามณฑลลาวเฉียง

พ.ศ. ๒๔๔๒ ให้เปลี่ยนชื่อมณฑลลาวเฉียง เป็นมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ

พ.ศ. ๒๔๔๔ ให้เปลี่ยนชื่อมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นมณฑลพายัพ

พ.ศ. ๒๔๕๗ ให้รวมมณฑลพายัพ กับมณฑลมหาราษฎร์เข้าด้วยกัน เรียกว่า ภาคพายัพ และแต่งตั้งข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพเรียกว่า “อุปราช”

พ.ศ. ๒๔๖๗ ให้เลิกภาคพายัพ คงมีมณฑลพายัพ

พ.ศ. ๒๔๗๖ ให้ยกเลิกการปกครองแบบเทศาภิบาล และให้ยุบมณฑลพายัพเสีย เชียงใหม่มีฐานะเป็นเพียงจังหวัด ขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทยแต่นั้นมา และให้ข้าหลวงประจำจังหวัด ปัจจุบันตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัด ได้เปลี่ยนเป็น “ผู้ว่าราชการจังหวัด”

รายพระนามกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรลานนาไทย

ราชวงศ์มังราย

รัชกาลที่ ๑ พญามังรายมหาราช พ.ศ. ๑๘๐๑-๑๘๖๐(สร้างเมืองเชียงใหม่พ.ศ. ๑๘๓๙)

รัชกาลที่ ๒ พระเจ้าชัยสงคราม พ.ศ. ๑๘๖๐-๑๘๗๐

รัชกาลที่ ๓ พระเจ้าแสนภู พ.ศ. ๑๘๗๐-๑๘๗๗

รัชกาลที่ ๔ พระเจ้าคำฟู พ.ศ. ๑๘๗๗-๑๘๘๘

รัชกาลที่ ๕ พระเจ้าผายู พ.ศ. ๑๘๘๘-๑๙๑๐

รัชกาลที่ ๖ พระเจ้ากือนา พ.ศ. ๑๙๑๐-๑๙๓๑

รัชกาลที่ ๗ พระเจ้าแสนเมืองมา พ.ศ. ๑๙๓๑-๑๙๕๔

รัชกาลที่ ๘ พระเจ้าสามฝั่งแกน พ.ศ. ๑๙๕๔-๑๙๘๕ (ถูกจับปลดออกจากราชสมบัติ)

รัชกาลที่ ๙ พระเจ้าติโลกราช พ.ศ. ๑๙๘๕-๒๐๓๐ (ทำสังคายนาครั้งที่ ๘ ของโลก ที่วัดเจ็ดยอด เชียงใหม่ พ.ศ. ๒๐๒๐ ยุคทองของพระพุทธศาสนา

รัชกาลที่ ๑๐ พระเจ้ายอดเชียงราย (ราชนัดดาของพระเจ้าติโลกราช) พ.ศ. ๒๐๓๐-๒๐๓๘(ถูกจับปลงออกจากราชสมบัติ)

รัชกาลที่ ๑๑ พระเจ้าเมืองแก้ว หรือพระเจ้าพิลกปนัดดาธิราช พ.ศ. ๒๐๘๓-๒๐๖๘

รัชกาลที่ ๑๒ พระเมืองเกษเกล้า พ.ศ. ๒๐๖๘-๒๐๘๑ โอรสชิงราชสมบัติ (ครั้งที่ ๑)

รัชกาลที่ ๑๓ พระเจ้าชายคำ หรือเจ้าทรายดำ พ.ศ. ๒๐๘๑-๒๐๘๖ (ถูกขุนนางจับฆ่า)

พระเมืองเกษเกล้าขึ้นครองอีกเป็นครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๐๘๖-๒๐๘๘ ถูกแสงดาวขุนนางคิดกบฏจับปลงพระชนม์ บ้านเมืองเกิดจลาจล พระนางจิรประภามหาเทวี ได้ขึ้นรักษาราชบัลลังก์ สมเด็จพระไชยราชา กรุงศรีอยุธยายกมาตีเมืองชียงใหม่

รัชกาลที่ ๑๔ พระไชยเชษฐาธิราช พ.ศ. ๒๐๘๙-๒๐๙๑ มาจากล้านช้าง เป็นพระนัดดาของพระเมืองเกษเกล้า

(ว่างกษัตริย์ แต่ พ.ศ. ๒๐๙๑-๒๐๙๔ เป็นเวลา ๓ ปี)

รัชกาลที่ ๑๕ พระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์ พ.ศ. ๒๐๙๔-๒๑๐๑ เชื้อสายขุนเครือโอรสของพญามังราย เป็นไทยใหญ่(เงี้ยว) เสียเอกราชแก่พระเจ้าบุเรงนอง พระเจ้าเมกุฏิฯ ครองต่ออีกถึง พ.ศ. ๒๐๐๗ ถูกจับไปกรุงหงสาวดี เพราะคิดแข็งเมือง พม่าแต่งตั้งให้พระนางวิสุทธิราชเทวีครองเมืองต่อมาได้อีก ๑๔ ปีพ.ศ. ๒๑๒๑ ทิวงคต พม่าให้เจ้าฟ้าสารวดี หรือมังนรธาช่อมาครองเมืองเชียงใหม่ นับว่าเป็นวงศ์บุเรงนองครองเชียงใหม่ต่อมาอีก พ.ศ. ๒๑๒๒-๒๑๕๐ สมัยนี้เชียงใหม่ขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา เชื้อสายของบุเรงนองที่ครองเมืองเชียงใหม่ต่อมาก็คือ มองซายเทา พ.ศ. ๒๑๕๐-๒๑๕๑ มองกวยตอ พ.ศ. ๒๑๕๑-๒๑๕๓ อนุชามองกวยตอ พ.ศ. ๒๑๕๓-๒๑๕๗ สิ้นวงศ์บุเรงนอง เชื้อวงศ์เจ้าเมืองน่านคือเจ้าพระยาพลศึกซ้ายไชยสงคราม หรือเจ้าศรีสองเมืองครองแต่พ.ศ. ๒๑๕๗-๒๑๗๔ (แข็งเมืองไม่ขึ้นต่อพม่า) พระเจ้าสุทโธธรรมราชายกกองทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ และจับตัวเจ้าพระยาพลศึกซ้ายไชยสงครามไปขังไว้ที่กรุงหงสาวดี พระเจ้าสุทโธฯ ให้พระยาหลวงทิพยเนตรเจ้าเมืองฝางมาครองเมืองเชียงใหม่ได้ ๑๙ ปี พระยาหลวงทิพยเนตรถึงแก่กรรม พระแสนเมืองหรือพระยาแสนหลวงบุตรได้ครองเมืองในพ.ศ. ๒๑๙๓ ครองได้ ๑๓ ปี เสียเมืองแก่เจ้าพระยาโกษาธิบดี(เหล็ก) พ.ศ. ๒๒๐๕

พระเจ้าเมืองแพร่มาครองอีกพ.ศ. ๒๒๐๖-๒๒๑๕ ( ๙ปี )

อึ้งแซะ ราชบุตรพระเจ้าอังวะ พ.ศ. ๒๒๑๕-๒๒๒๘ ( ๑๓ปี )

มังแรนร่า บุตรอึ้งแซะ ครอง พ.ศ. ๒๒๒๘-๒๒๗๐ ( ๔๒ปี )

เทพสิงห์ชาวเมืองยวนใต้กู้อิสรภาพ จับโป่มังแรนร่าฆ่าเสีย เจ้าองค์คำหรือเจ้าองค์นก เชื้อวงศ์หลวงพระบางขับไล่เทพสิงห์ และขึ้นครองเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๒๗๐-๒๓๐๔ บุตรเจ้าองค์คำครองถึง ๒๓๐๖ เสียเมืองแก่พม่า

โป่อภัยคามินี ครองพ.ศ. ๒๓๐๖-๒๓๑๒ ถึงแก่กรรม พม่าจึงส่งโป่มะยุง่วนมาครองพ.ศ. ๒๓๑๒-๒๓๑๗ ถูกเจ้ากาวิละกู้อิสระภาพเชียงใหม่เป็นอิสระแต่พ.ศ. ๒๓๑๗ และร้างจนถึง พ.ศ. ๒๓๓๙ พระเจ้ากาวิละ จึงได้เข้ามาตั้งเมืองเชียงใหม่อีกครั้งหนึ่ง และเจริญรุ่งเรืองมาตราบทุกวันนี้


ที่มา สงวน โชติสุขรัตน์ ,ตำนานพื้นเมืองล้านนาเชียงใหม่,www.sanyasi.org,มรดกไทย
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: ประวัติศาสตร์ล้านนา

โพสต์โดย Namfar » พฤหัสฯ. 12 ต.ค. 2017 10:35 am

การรวมล้านนาเข้ากับสยาม

10312595_1396783323940250_5247498972502901348_n.jpg
10312595_1396783323940250_5247498972502901348_n.jpg (38.16 KiB) เปิดดู 10434 ครั้ง


ในอดีตนั้นล้านนาหมายถึงอาณาจักรล้านนา คนละส่วนกับเมืองสยาม สยามในช่วงเริ่มต้นของการรวมล้านนาคืออาณาจักรสุโขทัย มีเมืองหลวงคือสุโขทัย สืบทอดมาเป็นอยุธยา ธนบุรี และกรุงเทพฯ ต่อมาเมื่อล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นพม่า ๒๐๐ กว่าปี พระเจ้ากาวิละ (โอรสเจ้าชายแก้ว เมืองลำปาง หลานปู่ของพญาสุลวะฦๅไชย หรือหนานทิพย์ช้าง พรานป่าผู้ปราบดาภิเษกขึ้นครองนครลำปาง) ได้ไปขออ่อนน้อมต่อสยาม เพื่อให้สยามยกทัพมาช่วยขับไล่พม่า ต่อมาสยามจึงต้องการรวมล้านนาเข้ากับสยาม ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

การรวมหัวเมืองประเทศราชล้านนาเข้ากับส่วนกลาง รัฐบาลกลางวางเป้าหมายของการปฏิรูปการปกครองเพื่อสร้างเอกภาพแห่งชาติ ซึ่งมีองค์พระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมอำนาจเพียงแห่งเดียว ในการดำเนินการจะต้องกระทำสิ่งสำคัญ ๒ ประการ คือ ประการแรก ยกเลิกฐานะหัวเมืองประเทศราชที่เป็นมาแต่เดิม โดยจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลส่งข้าหลวงมาปกครอง ขณะเดียวกันก็พยายามยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมืองเสีย โดยรัฐบาลกลางลิดรอนอำนาจของเจ้าเมืองก็สลายตัวไป ประการที่สอง การผสมกลมกลืนชาวบ้านล้านนาให้มีความรู้สึกเป็นพลเมืองไทยเช่นเดียวกับ พลเรือนส่วนใหญ่ของประเทศ กล่าวคือให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชนในชาติซึ่งแต่เดิมมีความ รู้สึกแบ่งแยกเป็นคนละพวก คนทางใต้เข้าใจว่าชาวล้านนาเป็นลาวไม่ใช่ไทย รัฐบาลกลางใช้วิธีจัดการปฏิรูปการศึกษาโดยจัดระบบโรงเรียนหนังสือไทยแทนการ เรียนอักษรพื้นเมืองในวัด และกำหนดให้กุลบุตรกุลธิดาต้องศึกษาเล่าเรียนภาษาไทยซึ่งประสบผลสำเร็จ ชาวเชียงใหม่และล้านนาต่างถูกผสมกลมกลืนจนมีความรู้สึกเป็นพลเมืองไทย

การดำเนินการมีการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านการปกครอง การศาล การภาษีอากร การคลัง การศึกษา การสาธารณสุขและอื่นๆ โดยจัดเป็นระบบเดียวกับกรุงเทพฯ ในทุกด้าน ระหว่างการปฏิรูปการปกครองในช่วงก่อนจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล (พ.ศ.๒๔๒๗ – ๒๔๔๒) ตรงกับสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าเมืองเชียงใหม่องค์ที่ ๗ (พ.ศ. ๒๔๑๖ – ๒๔๓๙) ซึ่งนับว่าเป็นเจ้าเมืององค์สุดท้ายที่มีอำนาจปกครองบ้านเมือง เพราะเป็นช่วงแรกของการดำเนินงานรัฐบาลกลางมีนโยบายไม่ยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมืองในทันที ยังคงให้ดำรงตำแหน่งอย่างมีเกียรติแต่ขณะเดียวกันก็พยายามลดอำนาจและผลประโยชน์ทีละน้อย รัฐบาลกลางได้ส่งข้าหลวงจากรุงเทพฯ ขึ้นมาจัดการปกครองในเมืองเชียงใหม่ในลักษณะที่ร่วมกันปกครองกับเจ้าเมืองและเจ้านายบุตรหลาน โดยที่ข้าหลวงพยายามแทรกอำนาจลงไปแทนที่ ส่วนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจซึ่งได้แก่รายได้จากการเก็บภาษีอากรส่วนหนึ่งต้องส่งกรุงเทพฯ บอกจากนั้นป่าไม้ซึ่งแต่เดิมเป็นของเจ้าเมืองและเจ้านายบุตรหลานได้ถูกโอนเป็นของรัฐใน พ.ศ.๒๔๓๙ ซึ่งเป็นช่วงก่อนการพิราลัยของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ และหลังจากสิ้นสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์แล้ว รับบาลกลางให้เจ้าอุปราชรั้งเมืองอยู่หลายปี จนกระทั่งเห็นว่าให้ความร่วมมือกับรัฐบาลกลางเป็นอย่างดี จึงมีการแต่งตั้งให้เจ้าอุปราชเป็นเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ เจ้าเมืองเชียงใหม่องค์ที่ ๘ (พ.ศ.๒๔๔๔ – ๒๔๕๒) หลังจากการดำเนินงานช่วงแรก (พ.ศ.๒๔๒๗ – ๒๔๔๒) ประสบความสำเร็จ รัฐบาลกลางได้ดำเนินการขั้นต่อมาโดยจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล (พ.ศ. ๒๔๔๒ – ๒๔๗๖) ซึ่งเป็นการยกเลิกฐานะเมืองประเทศราชของล้านนา โดยถือว่าหัวเมืองประเทศราชล้านนาผนวกเป็นส่วนหนึ่งของพระราชอาณาจักรอย่าง แท้จริง อำนาจการปกครองจะเป็นของข้าหลวงประจำเมืองต่างๆ โดยที่เจ้าเมืองไม่มีหน้าที่ปกครองบ้านเมืองโดยตรง ได้แต่ยกย่องให้เกียรติแต่เพียงในนามเท่านั้น ดังนั้นทั้งเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ และเจ้าแก้วนวรัฐจึงยังมีฐานะเป็นประมุขของเมืองเชียงใหม่
ในด้านผลประโยชน์ทาง เศรษฐกิจ รัฐบาลเข้าควบคุมมากขึ้น โดยกำหนดให้เจ้าเมืองเชียงใหม่ต้องเสียภาษีที่ดินเช่นเดียวกับราษฎรทั่วไป นอกจากนั้นยังจัดสรรรายได้ของเจ้าเมืองเป็น ๓ ส่วน คือ
๑. เงินเดือน
๒. เงินส่วนแบ่งค่าตอไม้
๓. เงินส่วนแบ่งค่าแรงแทนเกณฑ์
ซึ่ง รวม ๓ ส่วนแล้ว ปีหนึ่งเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์จะต้องมีรายได้ไม่น้อยนัก ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินค่าตอไม้และเงินแทนเกณฑ์ ซึ่งเก็บได้ไม่แน่นอนและมีแนวโน้มลดลงทุกปี ดังนั้นปี พ.ศ. ๒๔๕๑ เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์จึงขอพระราชทานผลประโยชน์เป็นเงินเดือนประจำเดือนละ ๒๐,๐๐๐ บาท จึงมีฐานะเหมือนข้าราชการทั่วไป และนับเป็นความสำเร็จที่จะนำไปสู่การยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมืองเชียงใหม่ในเวลาต่อมา

ในสมัยรัชกาลที่ ๗ ได้มีการกำหนดเป็นนโยบายการยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมืองฝ่ายเหนือทุกองค์ โดยถือว่าตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๙ เป็นต้นไป หากตำแหน่งเจ้าเมืองใดว่างลง จะไม่โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขึ้นอีก ส่วนเจ้าเมืองต่างๆ ที่ยังคงมีชีวิตอยู่ก็ได้เงินเดือนตลอดไปจนถึงแก่พิราลัย ซึ่งเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าเมืองเชียงใหม่องค์สุดท้ายถึงแก่พิราลัยใน พ.ศ. ๒๔๘๒ จึงเป็นการสิ้นสุดตำแหน่งเจ้าเมืองเชียงใหม่โดยปริยาย หลังจากนั้นเจ้านายฝ่ายเหนือผู้สืบสายสกุล ณ เชียงใหม่ ณ ลำพูน ณ ลำปาง และ ณ น่าน ก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของบ้านเมืองซึ่งแสดงถึงอดีตดินแดนล้านนาเคยมีเจ้านาย และคนเมืองเชียงใหม่ เป็นต้น ยังเรียกเจ้านายบุตรหลานชั้นสูงว่า “ เจ้า ” และเจ้านายฝ่ายเหนือได้รับเกียรติให้เข้าร่วมในพิธีกรรมสำคัญของบ้านเมืองเสมอ

ที่มา เว็บไซต์ล้านนาคดี
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: ประวัติศาสตร์ล้านนา

โพสต์โดย น้ำฝน ทะกลกิจ » อังคาร 23 ก.ค. 2019 9:56 pm

ไปโตยหาหมอทรัพย์และอี่นายก๋าสะลองตี้ “แม่แจ่ม”
เคยไปเยือนแม่แจ่มเมื่อหลายปีก่อน ยังจำบรรยากาศอบอุ่นหัวใจได้ดี จึงอยากให้คนอื่นๆได้มารู้จักเมืองหลังม่านดอยอินทนนท์แห่งนี้ “เมืองแจ๋ม”

IMG_9766_resize.JPG
IMG_9766_resize.JPG (72.27 KiB) เปิดดู 7493 ครั้ง


“แม่แจ่ม” มนตร์เสน่ห์แห่งเมืองในขุนเขา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดเชียงใหม่ ดินแดนแห่งนี้เดิมเป็นที่อาศัยของชนชาติลัวะ ซึ่งมีความเจริญไม่แพ้พวกขอม-มอญ ซึ่งเป็นเจ้าของดินแดนแห่งนี้ร่วมกัน เพียงแต่แยกการปกครองออกเป็นหมู่เหล่า เป็นอิสระไม่ขึ้นตรงต่อพวกใด ชนใดมีความเข้มแข็งก็ตั้งตัวเป็นเจ้าเมืองขึ้นปกครองกันเอง มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย และได้สร้างวัฒนธรรมของตนจนรุ่งเรือง ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นวัดวาอาราม จิตรกรรมฝาผนัง เครื่องปั้นดินเผา อาจจะเป็นเพราะในอดีตเมืองแจ๋มเป็นเส้นทางการค้าขายระหว่าง พม่า ไทย จีน และอินเดียก็เป็นได้ เพราะสินค้าของทุกประเทศตกทอดมาสู่รุ่นลูกหลานซึ่งได้รับจากบรรพบุรุษที่อยู่ในสมัยนั้นด้วย

ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เช่น คิชฌกูฏ ในวิหารของวัดยางหลวง พระเจ้าตนหลวง วัดกองกาน พระพุทธรูปหล่อด้วยสัมฤทธิ์ ศิลปะตระกูลช่างเชียงแสนและตระกูลช่างสุโขทัยซึ่งมีอายุเกิน ๕๐๐ ปีขึ้นไป ดังนั้นเมืองแจ๋มก็น่าจะเป็นชุมชนมานานไม่ต่ำว่า ๕๐๐ ปี

ราวๆ ปลายพุทธศตวรรษที่๑๘ (พ.ศ.๑๘๐๐) สิงหนวัติกุมารได้พากลุ่มคนไท-ยวนอพยพมาจากยูนนานทางตอนใต้ของจีน ยึดอำนาจจากลัวะในสมัยปู่จ้าวลาวจก (ลวจักราช) บรรพบุรุษของพญามังราย แล้วสร้างเมืองใหม่ในพื้นที่ที่มีชนพื้นเมืองลัวะอาศัยอยู่ก่อน แต่อาศัยการวางตนเป็นผู้ที่มีวัฒนธรรมสูงกว่าลัวะ ต่อมาเมื่อกลุ่มคนไทเสื่อมอำนาจลง ปู่จ้าวลาวจกจึงสถาปนาตนเองเป็นปฐมกษัตริย์ กลุ่มคนไทจึงกระจัดกระจายกันไปคนละทิศคนละทาง

DSC_0599-2-800x535_resize.jpg
DSC_0599-2-800x535_resize.jpg (70.86 KiB) เปิดดู 7493 ครั้ง


เวลาล่วงเลยมานานแสนนาน เริ่มมีคนไทยพื้นที่ราบทั้งจากอำเภอจอมทองและอำเภอสันป่าตองเข้ามาหากินและตั้งถิ่นฐานอยู่ตามที่ราบลุ่มน้ำแม่แจ่ม เริ่มมีชุมชนและวัฒนธรรมของตนเอง และได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๑ ชื่อว่า อำเภอเมืองแจ่ม และเปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอช่างเคิ่ง ในปี พ.ศ.๒๔๖๐ (ปัจจุบันช่างเคิ่งเป็นชื่อตำบลหนึ่งในอำเภอแม่แจ่ม) ตั้งที่ว่าการอำเภอที่บ้านหมู่ที่ ๔ ตำบลท่าผา มีนายชื่นดำรงตำแหน่งนายอำเภอ แต่ขณะนั้นราษฎรอดอยากขาดแคลนและไม่นิยมการปกครองที่มีการเก็บภาษีอากร ในที่สุดจึงมีราษฎรกลุ่มหนึ่งเข้าปล้นที่ว่าการอำเภอและทำร้ายนายอำเภอจนเสียชีวิต ทางราชการจึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอไปอาศัยที่วัดช่างเคิ่งเพื่อความปลอดภัย มีนายสนิทเป็นนายอำเภอจนกระทั่งปี พ.ศ.๒๔๘๑ ทางราชการได้ลดฐานะลงเป็นกิ่งอำเภอ และตั้งชื่อว่า กิ่งอำเภอแม่แจ่ม ขึ้นกับอำเภอจอมทอง และเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๙ ได้รับการยกฐานะเป็น อำเภอแม่แจ่ม อีกครั้ง และเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๒ ได้มีการแบ่งพื้นที่ของตำบลแจ่มหลวง ตำบลบ้านจันทร์ และ ตำบลแม่แดด ออกไปจัดตั้ง อำเภอกัลยาณิวัฒนา จึงทำให้อำเภอแม่แจ่ม มี ๗ ตำบล จนถึงปัจจุบัน

ตำนานสิงห์สองตัว...
เรื่องเล่าจากเมืองแจ๋ม เรียบเรียงโดยพระใบฏีกา วชิรญาโณ ตามตำนานเล่าขานกันว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้ากับพระมหากิจจายนะ ได้จารึกผ่านมาทางที่ราบลุ่มน้ำแจ่ม (บริเวณวัดพระธาตุช่างเคิ่ง) ได้พบกับสิงห์สองพี่น้องกำลังต่อสู้กัน พระพุทธเจ้าจึงทรงหยุดแล้วไต่ถามได้ความว่า สิงห์สองพี่น้องต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่ เป็นผู้ปกครองในพื้นที่นี้ เมื่อได้ความเช่นนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงแบ่งพื้นที่การปกครองให้โดยถามพ่อค้าที่ผ่านมาทางนั้นว่าขุนน้ำกับสบน้ำครึ่งกันตรงไหน พ่อค้าบอกว่าตรงนี้แหละ พระพุทธเจ้าจึงเอาไม้ขีดเป็นรอยแล้วให้สิงห์ผู้พี่ปกครองเขตเหนือและสิงห์ผู้น้องปกครองเขตใต้

พระศาสดาได้ให้พระเกศาจำนวน ๘ เส้น จึงได้สร้างสถูปบรรจุไว้ จากนั้นได้ทำการบูรณะจนกลายเป็นพระธาตุช่างเคิ่งและปั้นรูปพระกิจจายนะไว้ด้วย ต่อมารอยขีดที่พระพุทธเจ้าทรงขีดไว้นั้นกลายเป็นลำห้วยเล็ก ๆ ชาวบ้านเรียกชื่อว่า ห้วยชั่งเคิ่ง ซึ่งมีความหมายว่า ลำน้ำแบ่งครึ่งที่ตรงนั้น กระทั่งต่อมามีการเรียกชื่อลำห้วยนี้เพี้ยนเป็น ห้วยช่างเคิ่ง

เช้าวันต่อมาพระพุทธเจ้าได้เสด็จออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ มีย่าเฒ่าชาวลัวะผู้หนึ่ง นำปลาปิ้งครึ่งตัวมาใส่บาตร พระพุทธเจ้าจึงตรัสถามกลับไปว่า ปลาอีกครึ่งไปมีไหน ย่าลัวะจึงตอบว่า เก็บไว้ให้หลาน เมื่อพระพุทธเจ้าได้ยินเช่นนั้นจึงรำพึงว่า “บ้านนี้เมืองนี้มันแจ๋ม แต๊นอ” ต่อมาดินแดนแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า “เมืองแจ๋ม” (คำว่า “แจ๋ม” เป็นภาษาลัวะ แปลว่า มีน้อยไม่เพียงพอ ต่อมาคนไตญวน มาอยู่จึงเรียกชื่อตามสำนวนไตว่า “เมืองแจ๋ม” และเพี้ยนเป็น “แม่แจ่ม” ถือเป็นชื่อมงคลให้เมืองนี้มีความรุ่งเรืองแจ่มใส

อุโบสถกลางสระน้ำ (อุทกสีมา) วัดพุทธเอ้น เดิมชื่อวัดศรีสุทธาวาสเอิ้นมงกุฎ
IMG_9747_resize.JPG
IMG_9747_resize.JPG (84.55 KiB) เปิดดู 7493 ครั้ง


ภาพ : เมืองไทยน่าเที่ยว

อ้างอิง : เมืองไทยน่าเที่ยว , สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอแม่แจ่ม,วิกิพีเดีย
น้ำฝน ทะกลกิจ
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 1111
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 30 ก.ย. 2018 1:00 pm

Re: ประวัติศาสตร์ล้านนา

โพสต์โดย น้ำฝน ทะกลกิจ » อาทิตย์ 08 ธ.ค. 2019 10:00 pm

ตำนานสิงหนวัติกุมาร
77e56.jpg
77e56.jpg (74.77 KiB) เปิดดู 6809 ครั้ง

เรื่องนี้เริ่มจากการที่สิงหนวัติกุมาร โอรสพระเจ้าเทวกาลแห่งนครไทยเทศ คือเมืองราชคฤห์ อพยพผู้คนออกจากเมืองราชคฤห์เมื่อ พ.ศ.๔๓๐ เดินทางไปถึงชัยภูมิที่เคยเป็นแคว้นสุวรรณโคมคำมาก่อนไม่ใกล้แม่น้ำโขงนัก

เจ้าชายสิงหนวัติราชกุมารได้พบกับพันธุนาคราช ซึ่งพันธุนาคราชได้แนะนำให้เจ้าชายสิงหนวัติตั้งเมืองอยู่ในที่นั้น แล้วกลับวิสัยเป็นพระยานาคขุดแผ่นดินให้เป็นคูเมือง เจ้าชายสิงหนวัติจึงตั้งเมืองในที่นั้น และตั้งชื่อเมืองว่า เมืองนาคพันธุสิงหนวัตินคร จากนั้นอีก ๓ ปี เจ้าชายสิงหนาวัติก็ได้แผ่อำนาจปราบปรามหัวเมืองต่างๆ ในเขตนั้น และปราบได้ล้านนาไทยทั้งมวล

ถัดจากรัชสมัยของเจ้าสิงหนวัติแล้ว กษัตริย์องค์ต่อมา คือ โอรสของพระเจ้าสิงหนวัติ คือ พระยาพันธนติ ถัดจากพระยาพันธนติ ก็คือ พระยาอชุตราช และเมืองนี้ก็เปลี่ยนชื่อมาเป็นเมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่น พระยาอชุตราชขอนางปทุมวดีจากกัมมโลฤาษี มาเป็นมเหสี ยุคนี้มีการสร้างพระธาตุดอยตุงและพระธาตุดอยกู่แก้ว กษัตริย์องค์ต่อมาคือพระมังรายนราช โอรสของมังรายนราช คือองค์เชืองนั้น ครองเมืองเดิม ส่วนโอรสชื่อไชยนารายณ์ไปตั้งเมืองใหม่ ชื่อไชยนารายณ์เมืองมูล เมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแสนก็มีกษัตริย์ปกครองต่อๆ กันมาจนถึง จ.ศ.๒๗๙ (พ.ศ.๑๔๖๐)จึงเสียแก่พระยาขอมแห่งเมืองอุโมงค์เสลานคร กษัตริย์ของเมืองโยนกฯถูกขับให้ไปอยู่ที่เวียงสี่ทวง



ที่นั้นพระองค์พังได้โอรสที่เก่งกล้า คือพรหมกุมาร เมื่อพรหมกุมารอายุได้ ๑๖ ปี ก็เสนอให้พระบิดาแข็งข้อต่อขอม และตัวเองเป็นแม่ทัพเข้าต่อสู้กับพวกขอม และสามารถขับไล่ขอมไปทางใต้จนถึงเขตเมืองลวรัฐ พระองค์พังได้กลับเป็นกษัตริย์ในโยนกนครไชยบุรีศรีช้างแสนอีกครั้งหนึ่ง ใน จ.ศ.๒๙๙ (พ.ศ.๑๔๘๐) พรหมกุมารต่อมาได้ตั้งเวียงไชยปราการ และเป็นกษัตริย์ครองเมืองนี้ เมื่อสิ้นพระองค์พรหมราชแล้วโอรส คือพระไชยสิริก็ได้ครองเมืองต่อมา เมื่อถูกทัพมอญคุกคามเข้ามา พระองค์ไชยสิริก็พาชาวเมืองอพยพ เมื่อจ.ศ.๒๖๖ (พ.ศ.๑๕๔๗) ลงไปทางใต้และไปตั้งเมืองอยู่ที่เมืองกำแพงเพชร

ในเมืองโยนกนครราชธานีศรีช้างแสนนั้นมีกษัตริย์เสวยเมืองต่อมา จนถึงสมัยพระองค์มหาชัยชนะ และในปี จ.ศ.๔๖๗ (ที่ถูกควรเป็น ๓๗๖ พ.ศ.๑๕๘๘) ชาวเมืองจับปลาตะเพียนเผือกยักษ์ (ควรเป็นปลาไหลเผือกยักษ์) จากแม่น้ำกกแล้วแบ่งกันกินทั่วเมือง และในคืนนั้นเมืองโยนกนครราชธานีไชยบุรีศรีช้างแส่นก็ล่มลง กลายเป็นหนองน้ำใหญ่ ขุนพันนาและนายบ้านทั้งปวงพร้อมใจกันเลือกนายบ้านผู้หนึ่งชื่อขุนลัง เป็นหัวหน้าของชนกลุ่มนั้นช่วยกันสร้างเวียงปรึกษาขึ้นที่ริมแม่น้ำโขงฝั่งตะวันตก และอยู่ทางตะวันออกของเวียงโยนกเดิม นับเป็นการสิ้นสุดราชวงศ์กษัตริย์


ผู้ที่ครองเวียงปรึกษาต่อมานั้นได้รับการคัดเลือกกันเป็นครั้งคราว เรียกว่า "ไพร่แต่งเมือง" รวมเป็นขุนผู้ครองเวียงปรึกษา ๑๖ คน สืบต่อกันมาในช่วง ๙๓ ปี จึงเป็นอันจบตำนานสิงหนวัติกุมาร


หมายเหตุ
ตำนานสิงหนวัติกุมารนี้ ไม่ปรากฎชื่อผู้แต่งหรือปีที่แต่ง ได้รับการตีพิมพ์ลงในหนังสือประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๑ ซึ่งกรมศิลปากรพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๙ มาแล้ว ต่อมาผู้ที่ศึกษาตำนานเรื่องนี้อย่างละเอียด คือ นายมานิต วัลลิโภดม และได้นำเอาผลงานการศึกษาดังกล่าวมาตีพิมพ์ ในนามของคณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี จัดพิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๖
น้ำฝน ทะกลกิจ
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 1111
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 30 ก.ย. 2018 1:00 pm

ย้อนกลับ

ย้อนกลับไปยัง ร้อยเรื่องเมืองล้านนา

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 4 ท่าน

cron