ความทรงจำวันเก่าเล่าเรื่องวันวิวาห์

- 103417_resize.jpg (71.09 KiB) เปิดดู 33145 ครั้ง
วันนั้นได้เซ็ตงานให้เป็นแบบโบราณ ตัดพิธีการวุ่นวาย ฟุ่มเฟือยออก นับตั้งแต่การถ่ายพรีเวดดิง พิธีหมั้น การแต่งงานของเราเริ่มจากตอนเช้าไปทำบุญตักบาตร ถวายเจ้าที่ การเรียกขวัญ งานเลี้ยง และปิดท้ายด้วยการเข้าหอ โดยในพิธีเรียกขวัญเราใส่ชุดแบบล้านนาก่อนจึงไปเปลี่ยนชุดราตรีสีขาวมาตอนงานเลี้ยง
ปัจจุบันชุดทั้งหมดยังเก็บไว้ เพราะไม่ได้เช่า ไม่เช่า..แพงไหม..ชุดล้านนามีพี่ที่รู้จักกันตัดให้ในราคาหนึ่งพันบาทรวมค่าผ้า มีผ้าซิ่นทอมือที่แพงหน่อยผืนละสองพัน ส่วนชุดราตรีสั่งซื้อออนไลน์ เป็นชุดที่ลดราคาจากสามพันกว่าบาทเหลือ ๙๙๙ บาท เพราะเหลือแค่ไซส์ S และมีเพียงตัวเดียว เราใส่ได้ ชุดเจ้าบ่าวนั้น ชุดแบบล้านนา..งบไม่เกินห้าร้อย ส่วนสูทมีผู้ใหญ่ที่นับถือมอบให้ เครื่องประดับทั้งหมดต้องแบบล้านนาๆ ช่างแต่งหน้าเอาของใหม่แกะกล่องให้ยืม รักจัง
วันงานเราปิดรีสอร์ตให้แขกเข้าพัก เนื่องจากแขกเหมารถมาจาก กทม. บ้างก็ขึ้นเครื่องมา เยอะมาก แต่ปิดรีสอร์ตไม่ได้แพงนะคะ บ้านหนึ่งหลังราคาเพียง ๔๐๐ บาท อาหารเป็นโต๊ะจีน ไม่คิดค่าเช่าสถานที่คิดแค่ค่าอาหารรวมๆค่าอาหารเครื่องดื่มตกไม่เกินเจ็ดหมื่น รสมือพ่อครัวเป็นที่ถูกใจแขกมาก สั่งโต๊ะจีนแต่ให้ลงอาหารพร้อมกันหมด ชอบอะไรเลือกได้เลย แขกชมว่าอร่อยเด็ด
ซุ้มถ่ายรูป มาลัย บายศรี ป้ายฉากงานแต่ง มีพี่ที่เคารพนับถือพ่อทำให้ในราคาเพียงเจ็ดพันบาท ทุกอย่าง..ทุกคน..ทุกฝ่าย เมตตาเรามาก จนไม่ทำให้ราคาบานปลาย
อย่างที่บอกว่าตอนคุยกันเรื่องสินสอดพ่อแม่พูดว่า ไม่ได้ขายลูกกิน เราภูมิใจในตัวพ่อแม่มากๆที่มองอนาคตมากกว่าหน้าตา ไม่มัวนั่งอวดสินสอดกัน ทั้งๆที่บางงานวางสินสอดมหาศาล..เสร็จงานต้องคืนเจ้าของ บ้านเราเลือกที่จะทำตามจริง เจ้าบ่าวนั้นใช้เงินไปกับการดูแลครอบครัวเรา รวมไปถึงเรื่องที่ทางก่อนหน้านี้หลายแสน เราจึงซื้อสร้อยไว้เป็นที่ระลึกก็พอ ส่วนเงินที่เตรียมมาก็เก็บไว้ดูแลพ่อแม่ และเป็นเงินสำรอง ดีกว่าละลายแม่น้ำ
งานแต่งของเรามีผู้ใหญ่ให้ความเมตตามาร่วมงานอย่างอบอุ่น รวมถึงครูบาอาจารย์ที่เคยสอน ท่านมาเป็นเกียรติ และอยู่จนงานเลิก จำนวนแขกบานปลายจนต้องเอาการ์ดไปถ่ายเอกสารเพิ่ม ในวันงานที่เซ็ตที่นั่งไว้ในอาคารหลังใหม่ของรีสอร์ตซึ่งมี ๒ ชั้น ปรากฏว่าคนเต็ม ต้องจัดโต๊ะในอาคารหลังเก่าเพิ่มก็เต็มเช่นกัน
ซองงานแต่ง ด้วยความที่เราจัดในอำเภอบ้านเกิด คนแถวบ้านจึงใส่ซองไม่มากนัก ต่ำสุด ๖๐ บาท ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ ๑๐๐ บาท แต่ไม่ว่ากี่บาทเราก็ไม่ซีเรียส แสนจะดีใจที่เขามาเป็นเกียรติ เงินไม่ใช่เรื่องใหญ่ มิตรภาพในวันต่อไปสิสำคัญ ถามว่ารวมๆแล้วเข้าเนื้อไหม ไม่เลย ผู้ใหญ่ที่นับถือหลายท่านใส่ซองหลักพัน มีหลักหมื่นด้วย
เราจัดงานตามสไตล์เรา..ไม่สนความคิด สายตาใคร เราเอาความสบายใจ และพอผ่านไปนานๆจึงรู้ว่า 'คิดถูก' เพราะไม่เดือดร้อนต้องมาใช้หนี้มหาศาล ญาติผู้ใหญ่สองฝ่ายก็รักและดูแลกันดี
ส่วนการวางแผนมีลูกนั้น แรกๆเรายังไม่มีความคิดที่จะมีลูก เพราะต้องออกงาน ทั้งเป็นวิทยากร ให้สัมภาษณ์โน่นนี่ จะมาท้อง..โอย..ไหนจะท้องโย้ไปทำงาน สภาพจะเป็นไง ท้องจะลายไหม น้ำหนักจะลดได้ไหม
จนวันหนึ่งที่มันอิ่มตัว เราพร้อม พอใจในความสำเร็จของตนเองแล้วจึงอยากมีลูกขึ้นมาเพื่อเติมเต็มครอบครัว น้องคำแก้วก็มาในช่วงเวลาที่เหมาะสม แพ้หนักมาก..อาเจียนวันละหลายรอบ บางวันถึงกับปวดต้นคอ เลือดกำเดาไหล เพื่อนเป็นเภสัชบอกว่า หมอทำวิจัยพบว่า คนแพ้หนักๆรกจะแข็งแรง ลูกไอคิวดี คำแก้วแข็งแรงมาก ไม่เคยมีภาวะแท้งคุกคาม ผลเลือดก็ไม่ทำให้หมอหนักใจ ติดเรื่องเดียวคือกินไม่ค่อยได้..ตอนนี้ห้าเดือนกว่าดีขึ้นแล้ว ยังไม่หาย แต่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ๘๐%
เล่างานแต่งงานของเราไปแล้ว..มาดูพิธีล้านนาแท้ๆกันบ้าง..ทำอย่างไร..ตามลำดับ
การจ๋าเติง คือการสู่ขอ พูดคุยตกลงในเรื่องพิธีการ โดยทั่วไปจะหมั้นกันตอนอู้จ๋า ของหมั้นมักจะเป็นสร้อย เงิน ดาบยศ ตามสมควร
การใส่ผี เจ้าบ่าวต้องนำเงินค่าเสียผีใส่ขันพร้อมข้าวตอกดอกไม้ไปไหว้สาญาติผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวเรียกว่าเงินเสียผีหรือเงินใส่ผี เป็นเงื่อนไขว่าได้เป็นผีในครัวเรือนเดียวกันแล้ว ภาษาล้านนาว่า" ผีตั๋วเดียวกั๋น" คือต้องเป็นญาติเครือเดียวกันนั่นเอง
เช้าวันแต่งงานจะต้องมีพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่ (จตุโลกบาล) ซึ่งเป็นพิธีสำคัญของชาวล้านนาในการคุ้มครองบ้านเรือน โดยปู่อาจารย์ซึ่งอาจเป็นผู้อาวุโสที่คนในหมู่บ้านเคารพเป็นผู้ประกอบพิธี ส่วนเครื่องพลีกรรมในพิธี ปู่อาจารย์ผู้ประกอบพิธีเป็นผู้จัดเตรียม
พิธีแต่งงานล้านนา เริ่มจากการขอเขย ฝ่ายเจ้าสาวจะนำคณะไปขอเจ้าบ่าวที่บ้านเจ้าบ่าว เรียกว่า ไปขอเขย ซึ่งการขอเจ้าบ่าวจะต้องมีพานดอกไม้ธูปเทียน ไปพูดเชิญพ่อแม่เจ้าบ่าวด้วยถ้อยคำอันเป็นมงคล เพื่อเชิญผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าบ่าวแห่ขบวนขันหมากไปยังบ้านเจ้าสาวให้ทันตามฤกษ์ที่กำหนด
เรียกขวัญ ผูกข้อมือคู่บ่าวสาว
การเรียกขวัญแต่งงาน เป็นการสร้างกำลังใจและเตือนสติให้ผู้ได้รับการเรียกขวัญด้วยว่า ในวาระนั้น ๆ ผู้ได้รับการเรียกขวัญกำลังจะย่างเข้าสู่ชีวิตอีกแบบหนึ่งคือ ทั้งคู่กำลังจะเป็นพ่อเรือนแม่เรือน จะต้องปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับชีวิต ชาวล้านนามีความเชื่อว่า คนเรามีขวัญอยู่ ๓๒ ขวัญ อยู่ประจำอวัยวะต่าง ๆ ประจำตัว เพื่อปกปักรักษาผู้เป็นเจ้าของขวัญให้มีความสุข ไม่เจ็บป่วย แต่ถ้าขวัญออกจากร่างกาย จะมีผลทำให้ผู้นั้นเจ็บป่วย มีความทุกข์หรือเกิดเรื่องร้ายต่าง ๆ ดังนั้น เพื่อให้ขวัญอยู่ที่เดิม จึงจำเป็นต้องจัดพิธีเรียกขวัญหรือผูกข้อไม้ข้อมือกันนั่นเอง
การส่งตัวเข้าหอ ก่อนส่งตัวเจ้าบ่าวเจ้าสาวเข้าห้องหอ จะต้องมีการมัดมือคู่เจ้าบ่าวสาวให้ติดกันก่อน โดยมีพ่อแม่หรือบุคคลที่เคารพนับถือ บุคคลที่มีชื่อเป็นมงคลเป็นผู้จูงคู่บ่าวสาวเข้าห้อง โดยต้องถือบายศรีนำหน้า ตามด้วยน้ำบ่อแก้ว คือสลุงที่ใส่เงินทองที่แขกผู้มาร่วมงานได้มอบให้ตอนผูกข้อมือคู่บ่าวสาว การจูงเข้าห้องโดยญาติฝ่ายเจ้าสาวจูงมือเจ้าสาว ญาติฝ่ายเจ้าบ่าวจูงมือเจ้าบ่าว ซึ่งบนเตียงนอนมีกลีบดอกไม้โปรยไว้
พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่แต่งงานครั้งเดียวจะนอนให้ดูเป็นตัวอย่างก่อน แล้วให้คู่บ่าวสาวนอนด้วยกันเป็นพิธี และมีการให้โอวาทในการครองเรือน เรียกว่า สอนบ่าว สอนสาว เช่น ให้ผัวเป็นแก้ว เมียเป็นแสง บ่ดีหื้อเป็นผัวเผต เมียยักษ์ หื้อมีลูกเต็มบ้าน หลานเต็มเมือง หื้อฮักกั๋นแพงกั๋นอยู่ตราบเสี้ยงชีวิต ถ้าผัวเป็นไฟ หื้อเมียเป็นน้ำ หื้อพ่อชายเป็นหิง แม่ญิงเป็นข้อง (สรุปสั้น ๆ คือ ขอให้ผู้ชายเป็นคนหาเงินทอง ส่วนผู้หญิงเป็นผู้เก็บรักษาทรัพย์สมบัติ)

- 136819_resize.jpg (113.35 KiB) เปิดดู 28888 ครั้ง
สำหรับเรา การแต่งงานคือการให้เกียรติฝ่ายหญิง จริงๆไม่ได้ถือสา จะจดทะเบียนสมรสกันเลยก็ได้ แต่ก็มาคิดว่าตนเองเป็นข้าราชการ เป็นนักเขียนพอจะมีคนรู้จัก ก็ควรทำอะไรให้งาม ทำให้พ่อแม่และวงศ์ตระกูลสักหน่อย หลังใช้ชีวิตชิลๆมาก็มาก ตอนรับปริญญาก็ไปแค่ตอนซ้อมใหญ่..ไม่ไปรับจริง..ถือว่าใช้ชีวิตติสท์แตกมาพอสมควร
เคยเล่าเรื่องงานแต่งงานไป ว่าไม่ได้เน้นโชว์สินสอด ที่มาของโพสต์นี้เพราะเห็นข่าวเช่าสินสอดไปวางโชว์ ๑ ล้าน บางคนคงทำเพราะให้น่าเชื่อถือในเชิงธุรกิจ แต่คนทั่วไปก็มีเยอะนะ เราเคยเห็นเคสที่ยืมเงินยืมทองหยองของญาติๆมาวางโชว์แล้วไม่ได้มอบให้ฝ่ายหญิงจริงๆ พอจบพิธีนี่นัวเนียกันจ้าละหวั่น กลัวฝ่ายหญิงยึดไป มองอย่างขำๆ สนุกสนานกันเถอะ มันก็เป็นสิทธิของเขาที่จะทำ แต่สำหรับครอบครัวเราไม่ชอบความยุ่งยากแบบนั้น..เราจึงไม่มีพิธีหมั้นในวันงาน
ปกติคนเหนือจะหมั้นหมายกันนอกรอบ คุยกันภายใน ก็เหมือนชนบททั่วไปที่ใครได้สินสอดเยอะก็เอาไปลือ แต่สำหรับเรานั้น 'ไม่เคยแคร์สังคม' คุยกันในครอบครัว พ่อแม่ไม่เรียกร้องอะไร เพราะเราซื้อโน่นนี่กันมาเยอะแล้ว แม่ใช้คำว่า 'ไม่ได้ขายลูก' ประโยคสั้นๆ แต่ทำให้สองครอบครัวอยู่ด้วยกันด้วยมิตรภาพที่ดีงามมาจนถึงวันนี้ เพราะเราเหมือนกันตรงที่ เราอยู่กับความจริง ไม่ต้องสร้างภาพอวดคนอื่น หากจะวางสินสอด..ก็มีเตรียมไว้หลักแสนนะ แต่เราไม่ทำ ยิ่งถ้าต้องไปเช่าแบบในข่าว โนวเวย์ เราจะมองว่าเจ้าบ่าวปัญญาอ่อน ไม่แต่งด้วยหรอก คนสร้างภาพก็จะสร้างไปจนตาย อยู่กันไปคงจมไม่ลง..ทำให้เงินเก็บเสียไปเพราะเอาแต่โอ้อวด นั่นไม่ใช่เรา ถ้าจะอวดควรอวดภาพจริง ความเป็นลูกสาวที่สู้ชีวิต ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน มานะบากบั่นวางตัวเป็นคนดี และเมื่อมี..ก็พร้อมจะช่วยเหลือผู้ที่ลำบาก มากกว่าเอาเงินมากองแกล้งทำเป็นรวย..เปลือกมาก
งานแต่งงานของเรา..ภาพที่คนมองจากภายนอกคือดูใหญ่โต มีคนมาร่วมมากมายทั้งยังเป็นผู้มีเกียรติหลากหลายสาขา แต่เนื้อในคือราคาย่อมเยามากๆ ตั้งแต่ชุด สถานที่(แถมปิดรีสอร์ตให้แขกพักด้วย) อาหาร ข้าวของในพิธี และการตกแต่งสถานที่ เรามีคนที่พร้อมช่วยในราคาที่ทำให้ยิ้มออก ความภูมิใจคือแขกที่ถ่อจาก กทม.มาเกินจำนวน มีการเหมารถกันไปเองเพิ่มอีก ๒ คัน บ้างก็ขึ้นเครื่องมา แขกแถวบ้าน เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ เพื่อนฝูง และคนรู้จักบ้างไม่รู้จักบ้าง เยอะจนต้องเอาการ์ดไปถ่ายเอกสารเพิ่ม บางคนบอกแม่ว่า เอาการ์ดใบนึงนะ แหม่..เหมือนสั่งจองตั๋วคอนเสิร์ตเลย ทุกคนชมว่าอาหารอร่อย..ถือว่าปังปุริเย่มาก เราพิถีพิถันเรื่องกินเป็นพิเศษ
เราคิดไม่ผิดที่จัดงานแบบพอประมาณ เพราะไม่ต้องมัวมาหาเงินใช้หนี้ ชีวิตจึงมีความสุขที่แท้จริง..
เจ้าหน้าที่จากกระทรวงศึกษาธิการ้ข้ามาประเมินศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง

- 103313.jpg (54.8 KiB) เปิดดู 33145 ครั้ง
ครูน้ำฝน ทะกลกิจ รับหน้าที่ดูแลฐานศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น กลิ่นอายปากเกร็ด ร่วมกับเพื่อนครู
วันศุกร์ ที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๓