ตำนานดอยจอมหด – เรื่องเล่าจากดอยหลวง สายสัมพันธ์แห่งความเชื่อ “อารักษ์แห่งเมือง”

- FB_IMG_1603421377171_2.jpg (34.41 KiB) เปิดดู 26863 ครั้ง
ชาวล้านนามีความเชื่อมาอย่างยาวนานว่า เจ้าหลวงคำแดง อารักษ์ผู้เป็นใหญ่แห่งล้านนาสถิตอยู่ที่ดอยหลวง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ในทุกๆวันพระ อารักษ์เมือง เชนเมือง จึงมีการชุมนุมและถือศีลกันที่ดอยหลวง ซึ่งอารักษ์เมือง เชนเมือง ที่สถิตอยู่แห่งอื่นก็จะมาร่วมชุมนุมโดยพร้อมเพรียงกัน ดังเรื่องเล่าที่กล่าวอ้างถึง นายเส็ด พรานล่าเนื้อ ที่หายไปหลังจากเดินทางไปยังดอยหลวง
มักมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับคนหายหลังเข้าไปในดอยหลวงเชียงดาว บริเวณถ้ำหลวงซึ่งอยู่เชิงดอย เรื่องเล่าที่เชื่อมโยงถึงดอยจอมหด ได้แก่ เรื่องของ นายเส็ดชาวบ้านแม่ก๊ะ อำเภอเชียงดาว ที่ได้หายไปในถ้ำทำนองเดียวกัน เขาหายตัวไปนาน ๓ - ๔ เดือน ถึงแม้จะมีคนออกไปค้นหาเท่าใดก็ไม่พบ จนต้องไปพึ่งหมอไสยศาสตร์ให้ทำพิธีร้องเรียกให้กลับมา หลังทำพิธีเมื่อเทพเจ้าภายในถ้ำเชียงดาวทราบว่าพ่อแม่ ญาติพี่น้อง และลูกเมียของนายเส็ดได้ทำพิธีเรียกร้องให้กลับบ้าน เทพเจ้าจึงปล่อยตัวเขา แต่ว่ามีข้อแม้ว่านายเส็ดจะต้องเดินทางไปเชิญเทพเจ้าทั้งหลายที่สถิต ณ ที่ดอยจอมหด อำเภอพร้าว ให้ร่วมมาชุมนุมกับเทพเจ้าที่ดอยหลวงเชียงดาวและดอยนางเสียก่อน
ไม่เพียงเรื่องเล่าเรื่องคนหายเท่านั้นที่แสดงถึงความเชื่อมโยงระหว่างดอยจอมหดและดอยหลวง คนทั่วไปยังมีความเชื่อว่า เมื่อเข้าไปในถ้ำหลวงเชียงดาวแล้วจะสามารถเดินทะลุมาถึงดอยจอมหดอำเภอพร้าวได้อีกด้วย ความเชื่อเหล่านี้อาจจะเป็นเพราะตำนานที่เล่าสืบทอดกันมาก็เป็นได้

- FB_IMG_1606525111986_3.jpg (55.19 KiB) เปิดดู 26863 ครั้ง
ตำนาน ที่มาของชื่อดอยจอมหดและดอยสลุง
มีความเชื่อว่า บนดอยสลุง หรือดอยหลวงเชียงดาว มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สิงสถิตอยู่ เมื่อพระอินทร์และเทวดาต้องการปู่จา (บูชา) สิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็จะเอารางรินมาพาดจากดอยจอมหดไปยังดอยสลุง แล้วนำน้ำทิพย์รด(หด)ลงไปบนรางรินนั้น นี่คือที่มาของชื่อดอยจอมหด อำเภอพร้าว และดอยสลุง อำเภอเชียงดาว